สปส.เพิ่มสิทธิผู้ประกันตน เปิดช่อง ‘ตรวจสุขภาพ’ ประจำปี

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2562 ว่า สปส.ให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งในปีนี้ สปส.ได้ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงแรงงาน จัดเพิ่มสิทธิประโยชน์ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตเพื่อผู้ประกันตน โดยได้ดำเนินการคืนสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเริ่มดำเนินการคืนสิทธิมาตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2561- วันที่ 19 เมษายน 2562 มีตัวเลขผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพกลับเข้าสู่ระบบแล้วทั้งสิ้น 384,086 คน เร่งดำเนินการผลักดันแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยจูงใจแรงงานนอกระบบถึง 3 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือก 1 (ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาทต่อเดือน) คุ้มครองเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยต้องหยุดงาน เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ และตาย ทางเลือก 2 (ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาทต่อเดือน) เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยต้องหยุดงาน และเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพให้ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล ทางเลือก 3 (ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาทต่อเดือน) เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยต้องหยุดงาน และเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ตาย กรณีชราภาพได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล และกรณีสงเคราะห์บุตร

นายอนันต์ชัยกล่าวว่า ในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น ได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดให้บริการตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้างผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ทำให้ลูกจ้างได้รับความสะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้ประกันตนใช้บัตรประชาชนยื่นตรวจสุขภาพได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม หรือโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการกับประกันสังคม ให้ได้รับการตรวจสุขภาพตามเกณฑ์อายุ เช่น ตรวจเต้านมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจน้ำตาลในเลือด ตรวจการทำงานของไต เอกซเรย์ปอด ตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น

เลขาธิการ สปส.กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกองทุนเงินทดแทน ได้แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ทำให้ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงานได้รับสิทธิประโยชน์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งทายาทหรือตัวลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนเพียงพอต่อการดำรงชีพ

“ซึ่งสาระสำคัญจาก พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ ฉบับดังกล่าว คือ การปรับลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ 2 ต่อเดือน จากเดิมร้อยละ 3 กรณีประสบภัยพิบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีอำนาจลดการจ่ายเงินเพิ่มอีกด้วย ในส่วนของลูกจ้างได้มีการขยายความคุ้มครองไปยังลูกจ้างส่วนราชการกว่า 1 ล้านคน การเพิ่มเงินทดแทนให้ลูกจ้างเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน ซึ่งเดิมร้อยละ 60 อีกทั้งมีการเพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทน ในกรณีลูกจ้างทุพพลภาพ และกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ได้รับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลจากเดิมสูงสุด 2 ล้านบาท จนสิ้นสุดการรักษา เพิ่มค่าทดแทนการขาดรายได้กรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ซึ่งเดิมตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป เพิ่มค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพเป็นไม่น้อยกว่า 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด” นายอนันต์ชัยกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นายอนันต์ชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานของ สปส. ว่าจะดูแลผู้ประกันตนในระบบให้ได้รับสวัสดิการที่ดีและมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ และมีความเท่าเทียมกัน อันจะส่งผลให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image