กรมอนามัยหนุน ‘โรงเรียน-ศูนย์เด็กเล็ก’ จัด ‘คลีน รูม’ เผยเชียงรายทำแล้วกว่า 280 แห่ง

ห้องสะอาดฯ

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือขณะนี้ ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจึงต้องดูแลสุขภาพและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนนี้หลายโรงเรียนเริ่มทยอยเปิดเทอม เด็กวัยเรียน และกลุ่มเด็กเล็กภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นับเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงมีความพร้อม โดยทำความสะอาดก่อนเปิดเทอมและถ้าสถานที่เอื้ออำนวยก็สามารถจัดทำห้องสะอาด ปลอดฝุ่น (Clean Room) เพื่อช่วยให้เด็กได้รับอากาศที่สะอาด

“แนวทางการจัดทำห้องสะอาด ปลอดฝุ่นนั้น ให้เลือกห้องที่สะอาดมีสิ่งของสะสมฝุ่นน้อยที่สุด หากเป็นห้องธรรมดา ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรเลือกห้องที่มีประตูหน้าต่างน้อยที่สุด และต้องปิดให้มิดชิดทำความสะอาดห้องอยู่เสมอ โดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือเครื่องดูดฝุ่น เพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย และไม่ควรทำกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มขึ้น เช่น เผาเศษวัสดุทางการเกษตร จุดเทียน จุดธูป รวมทั้งกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน เป็นต้น” พญ.พรรณพิมลกล่าว และว่า สำหรับห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรตรวจสอบและทำความสะอาดแผ่นกรองทุกเดือน ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง และลดเสี่ยงสูดฝุ่นพิษในช่วงวันเปิดเรียนได้ โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร เช่น การเข้าแถวหน้าเสาธง การออกกำลังกายกลางแจ้ง เป็นต้น รวมทั้งขอความร่วมมือรถรับส่งนักเรียนจอดนอกโรงเรียน และดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ

พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า สำหรับห้องสะอาดที่มีพื้นที่จำกัด ให้เด็กป่วยหรือเด็กกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ ฯลฯ เข้ามาพักอาศัยภายในห้องสะอาดที่จัดเตรียมขึ้นภายในโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อน ครูผู้ดูแลรับผิดชอบควรมีความรู้และสามารถคัดกรองเด็กที่มีอาการผิดปกติเบื้องต้น เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะ เจ็บคอ คอแดง และน้ำมูกใสไหล ฯลฯ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่เด็กอื่นที่อยู่ในห้องสะอาดนั้น ทั้งนี้ การดำเนินงานจัดทำห้องสะอาดฯ เป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ สธ.ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ โรงพยาบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือสถานศึกษาที่อยู่ใกล้บ้าน ดำเนินการเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก สามารถมาใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วกว่า 300 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในจ.เชียงราย ที่ยังพบปัญหาฝุ่นละออง ที่ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำห้องสะอาดฯกว่า 280 แห่ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image