แพทย์เตือนอันตรายใช้ ‘ครีมหน้าขาว’ ชี้สารปรอทเพียบ

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากกรณีการเสนอข่าวเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) บุกแหล่งครีมกวนเองในพื้นที่ จ.หนองคาย หรือผู้ผลิต “ครีมหมี ปริญญา” ที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งหลงเชื่อซื้อมาใช้แล้วได้รับความเสียหาย ซึ่งแหล่งข่าวยังได้เปิดเผยอีกว่า มีแหล่งผลิตครีมนี้อยู่อีกมากมายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้มีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้ครีมดังกล่าวเป็นจำนวนมากนั้น จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า กระแสความนิยมของการมีผิวขาวเพิ่มขึ้น ตลอดจนกระแสการขายเครื่องสำอาง ทั้งขายตรงและเครื่องสำอางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น มีผู้เข้าสู่ตลาดนี้ได้ง่ายและมากขึ้น ทำให้มีการลักลอบใช้สารปรอทในเครื่องสำอางเพื่อรักษาฝ้า จุดด่างดำ หรือทำให้ผิวขาวกลับมาอีกระลอกหนึ่ง และนับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะพิษของสารปรอทนั้นมีผลกระทบหลายระบบของร่างกาย

“สารปรอทไม่ใช่สารอันตรายตัวใหม่ที่เพิ่งใช้กันในสังคมไทย ในช่วง 20-30 ปี สารปรอทเคยเป็นสารอันตรายอันดับหนึ่งของเครื่องสำอางที่ใช้ในไทยมาก่อนเช่นกัน โดยนิยมผสมในครีมที่เรียกกันว่า “ครีมไข่มุก” อย่างไรก็ตาม เมื่อทางรัฐได้เข้มงวดมากขึ้น ครีมปรอทเหล่านี้จึงได้ลดความนิยมลงและเป็นที่รู้จักในวงแคบหรือในตลาดใต้ดิน” นพ.สมศักดิ์กล่าว

Advertisement

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า จากการศึกษาของสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ซึ่งตรวจสารอันตรายในเครื่องสำอางจากที่ผู้ป่วยส่งตรวจและจากที่ได้จากการซื้อขายผ่านตลาดนัดและตลาดออนไลน์ ระหว่างปี 2561-2562 จำนวน 420 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น (ส่วนใหญ่จะเรียกว่า “ครีมหน้าขาว”) มีสารอันตรายถึงร้อยละ 25 นั่นคือ ในทุกๆ 4 ตลับ จะพบสารอันตราย 1 ตลับเลยทีเดียว โดยสารปรอทเป็นสารอันตรายที่พบบ่อยที่สุด รองลงมาคือ สารไฮโดรควิโนน และกรดวิตามินเอ สำหรับพิษที่สำคัญของสารปรอทต่อร่างกาย มีดังนี้

1.พิษต่อผิวหนัง แม้ว่าสารปรอทจะมีผลทำให้เม็ดสีลดลง แต่พบว่าอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ หากใช้ในระยะยาว จะทำให้ผิวบางลง เกิดจุดดำที่ผิวเพิ่มขึ้น เกิดฝ้าถาวร หรือในบางจุดจะทำให้เกิดผิวด่างถาวร
2.พิษต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการสั่น ปลายประสาทอักเสบ การทรงตัวผิดปกติ ชักกระตุก ซึมเศร้าหรือเกิดประสาทหลอนได้ 3.พิษต่อตับและไต ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และไตอักเสบได้ในระยะยาว
4.พิษต่อระบบเลือด ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง 5.หากใช้ระหว่างตั้งครรภ์ สารปรอทจะดูดซึมสู่ทารก และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกสมองพิการและปัญญาอ่อนได้

พญ.มิ่งขวัญกล่าวว่า จากการศึกษาของสถาบันโรคผิวหนังดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าผู้บริโภคมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารปรอทในเครื่องสำอางค่อนข้างสูง จึงขอให้พึงระวังในการใช้เครื่องสำอางจากแหล่งที่เชื่อถือได้มากที่สุด หากผู้บริโภคท่านใดไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ สามารถส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาขอรับการตรวจสอบสารอันตรายเบื้องต้นได้ที่สถาบันโรคผิวหนัง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image