สภากาชาดไทย จับมือ อย. เปิดเว็บไซต์แจ้งยื่นครอบครอง ‘กัญชา’ 13-21 พ.ค.นี้

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 13 พฤษภาคม ที่ห้องประชุม 1209 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.กิตติคุณ นพ.วงศ์สกุลพัทธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการสภากาชาดไทย นายอภิวัฒน์ เฟื่องฟู ทีมพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ต นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ น.ส.วรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น/กองส่งเสริมการประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่วมแถลงข่าวในหัวข้อ “การลงทะเบียนการใช้กัญชาทางอินเตอร์เน็ตเพื่อผู้ป่วยก่อนสิ้นวันนิรโทษกรรม” โดยทางทีมงานได้พัฒนาระบบลงทะเบียนทางอินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนให้กับผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษาโรคขอนิรโทษกรรม ซึ่งมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประชาชนทั่วไป ผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องร่วมงานแถลงข่าวจำนวนมาก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ รวมถึงกำหนดให้มีการนิรโทษกรรมผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคอยู่ในปัจจุบัน โดยให้มาลงทะเบียนขอนิรโทษกรรมที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) แต่เนื่องจากผู้ป่วยและญาติของผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ยังมีความสับสนในกระบวนการลงทะเบียน ความไม่สะดวกเดินทาง และกังวลว่าการลงทะเบียนจะทำให้ถูกจับกุม จึงมีผู้ป่วยมาลงทะเบียนน้อยกว่าความเป็นจริง ซึ่งมีกำหนดเวลาแจ้งครอบครองในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ และหากพ้นกำหนดแล้ว ผู้ป่วยที่ไม่ได้ลงทะเบียนอาจกลายเป็นผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนให้กับผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ คณะทำงานสภากาชาดไทย จึงได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนการใช้กัญชาทางอินเตอร์เน็ตขึ้น พร้อมประสานความร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และจิตอาสาประชาชน ผ่านเว็บไซต์ www.cbd.org โดยการจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 13-21 พฤษภาคมนี้ จากนั้นสภากาชาดไทยจะส่งข้อมูลให้กับ อย.ต่อไป

“โดยคนที่เคยลงทะเบียนไปแล้วกับทางการ สามารถลงใหม่ได้ ส่วนคนป่วยที่ครอบครองกัญชาและยังไม่ได้ลงทะเบียนกับทางการ สามารถลงทางอินเตอร์เน็ตได้ และคนป่วยที่มีข้อจำกัดทางการรักษาแผนปัจจุบัน แต่อาจต้องใช้กัญชาสามารถลงทะเบียนนี้ได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน คนป่วยที่ไม่สามารถหาใบรับรองแพทย์ได้ทันเนื่องจากแพทย์ไม่เข้าใจว่าคนป่วยต้องการเพียงการรับรองชื่อโรค และไม่ออกใบรับรองให้ หรือมีความไม่สะดวกเดินทางไปที่โรงพยาบาลเพื่อขอใบรับรองแพทย์เพียงฉบับเดียวสามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ แต่ข้อมูลที่แจ้งทั้งหมด ต้องเป็นความจริงทุกประการและยืนยันได้ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นความลับ และที่สำคัญจะเป็นหลักฐานที่ทางการไม่สามารถมาจับปรับหลังจากพ้นวันนิรโทษกรรม เพราะถือว่ามีความบริสุทธิ์ใจในการจดแจ้งแล้วบอกข้อมูลที่ถูกต้อง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ประโยชน์ของการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้กัญชาในครั้งนี้ จะทำให้ทราบถึงข้อมูลจริง ปริมาณของพืชกัญชาที่ต้องใช้ในผู้ป่วย เพื่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะได้จัดหากัญชาที่สะอาด บริสุทธิ์ และมีคุณภาพมาสกัดให้ตรงตามกลุ่มของผู้ป่วยในประเทศ ซึ่งในอนาคตจะเป็นการรักษาระบบเดียวกัน คือ ควบรวมแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้าน เภสัชกร และบุคลากร ทางสาธารณสุข ชมรมและเครือข่ายใต้ดิน ให้ทำงานด้วยกันได้ทุกพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย

ด้าน นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการเข้าสู่เว็บไซต์เพื่อลงทะเบียนได้ผ่านทางคิวอาร์โค้ด และเว็บไซต์ www.cbd.org และเมื่อเข้าสู่เว็บไซต์แล้วให้กดยื่นเอกสารใหม่ โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1.การกรอกข้อมูลส่วนบุคคล โดยเลือกคำนำชื่อ กรอกชื่อ และนามสกุลตามช่องให้ครบ กรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เลือกจังหวัดที่พักปัจจุบัน ถ่ายภาพหรือแนบไฟล์บัตรประชาชน 2.การกรอกข้อมูลอาการป่วย โดยเลือกโรค หรืออาการที่ตนเองป่วย หากไม่มีสามารถเลือกอื่นๆ หรือพิมพ์โรคหรืออาการ 3.การกรอกข้อมูลใบรับรองแพทย์ โดยการเลือกรูปแบบของใบรับรองแพทย์ที่มี ระบุรายละเอียดชื่อผู้ประกอบวิชาชีพ ระบุเลขใบประกอบวิชาชีพ ถ่ายหรือแนบไฟล์ใบรับรองแพทย์ 4.การกรอกข้อมูลการครอบครอง โดยเลือกรูปแบบของการครอบครองของตนเอง หากไม่มีสามารถระบุได้ตามตัวเลือก สามารถเลือกอื่นๆ และระบุปริมาณที่ถูกต้องได้ เลือกประเภทของกัญชาที่ครอบครอง ระบุจำนวนบรรจุภัณฑ์ (สามารถเลือกหน่วยได้) ระบุปริมาณต่อ 1 บรรจุภัณฑ์ (สามารถเลือกหน่วยได้) อัพโหลดรูปการครอบครอง ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีใบรับรองแพทย์และต้องการใช้ในอนาคตก็สามารถลงทะเบียนได้ ซึ่งในใบรับรองแพทย์ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องระบุว่าเพื่อขอใช้กัญชาทางการแพทย์ และ 5.การยืนยันข้อมูล คือ การตรวจสอบข้อมูลที่กรอกให้ถูกต้อง เลือกจังหวัดที่ประสงค์ไปรับเอกสาร ถ่ายหรือแนบไฟล์เอกสารบันทึกแจ้งการครอบครองกัญชาตัวจริง หลังจากกดยืนยันแล้วจะได้เลขรหัส 4 ตัว โดยมี 1 รหัสต่อ 1 คน ก่อนจะนำเลขดังกล่าวกรอกเข้าสู่เว็บไซต์ พร้อมใส่รหัสดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อมูลสถานะเอกสาร เมื่อลงทะเบียนแล้วข้อมูลที่ลงทะเบียนจะถูกเก็บรักษาเป็นความลับ

Advertisement
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์

นพ.สุรโชค กล่าวว่า อย.ได้ร่วมกับ รพ.จุฬาลงกรณ์ เพิ่มช่องทางในการรับแจ้งการครอบครองกัญชาของผู้ป่วยที่ใช้ในการรักษาโรคเฉพาะตัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ระหว่างวันที่ 13-21 พฤษภาคม สภากาชาดไทยจะส่งข้อมูลมายัง อย. เมื่อผู้ป่วยลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้ผู้ป่วยมาติดต่อกับ อย.และยื่นแบบแจ้งการครอบครอง พร้อมเตรียมเอกสารให้ถูกต้อง ครบถ้วน ได้แก่ บัตรประชาชน เอกสารแจ้งการมีกัญชา เอกสารรับรองอาการเจ็บป่วยจากแพทย์ และนำกัญชาที่ใช้ในการรักษาไปด้วย หากมีปริมาณมาก สามารถใช้ถ่ายรูปเพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบและพิจารณารับแจ้งการครอบครองตามกฎหมายต่อไป ซึ่งการลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เน็ตนี้ จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ที่ต้องการแจ้งครอบครองให้สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลากำหนด และหากครบกำหนดแล้ว ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เน็ตจะสามารถมายืนยันตนกับ อย. ภายหลังได้

“โดยการลงทะเบียนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อเป็นการยืนยันตัวตน และเพื่อให้ได้ข้อมูลในการจัดทำระบบฐานข้อมูลในการเตรียมผลิตสารสกัดกัญชาให้เพียงพอต่อผู้ป่วยในอนาคต และช่วยให้ได้ข้อมูลทั้งประเทศ” นพ.สุรโชค กล่าว

ศ.กิตติคุณ นพ.วงศ์สกุลพัทธ์ กล่าวว่า สาเหตุที่สภากาชาดไทยพยายามผลักดันงานที่เกี่ยวข้องกัญชา แม้กัญชาเดิมมีชื่อเสียว่าเป็นยาเสพติด แต่แท้จริงกัญชากลับมีประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย ทำให้สภากาชาดไทยมีเจตนารมณ์ชัดเจนเพื่อช่วยผู้ทุกข์ยาก เด็ก คนสิ้นหวัง โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติทั้งชนชาติ ชนชั้นวรรณะ สีผิว หรือพรรคการเมือง และยืนยันจะไม่ทำเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ หรือเพื่อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งสภากาชาดไทยเป็นองค์กรทางการกุศลตามที่ถูกบัญญัติไว้ตามกฎหมาย ทั้งนี้จะเสนอแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับกัญชาจะเสนอเข้าไปยังคณะกรรมการระดับผู้บริหารชุดใหญ่ในวันที่ 15-16 พฤษภาคมนี้ และเมื่อผ่านการเห็นชอบแล้วจะเสนอไปยังอุปนายิกาผู้อำนวยการ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อไป

“อย่างไรก็ตาม สภากาชาดไทยได้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกัญชามานานแล้ว ทั้งการทำวิจัยและสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยไม่หวังผลประโยชน์ทางการค้า เพราะอยากให้คนไทยต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ ซึ่งปัจจุบันสภากาชาดไทยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ พร้อมยืนยันว่าสภากาชาดไทยจะไม่ทำงานเหมือนไฟไหม้ฟาง จะพยายามผลักดันและดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกัญชาอย่างต่อเนื่องเพื่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ” ศ.กิตติคุณ นพ.วงศ์สกุลพัทธ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image