สธ.เร่งแก้ปัญหา รพ.ขาดหมอ ส่งลงพื้นที่ชนบท 1,000 คนต่อปี

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ แกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานพิธีมอบสัมฤทธิบัตรบัณฑิตและปัจฉิมนิเทศบัณฑิตแพทย์ รุ่นที่ 19 “โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท” ประจำปีการศึกษา 2561 ให้แก่บัณฑิตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ จำนวน 14 แห่ง และศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก จำนวน 37 แห่ง รวมทั้งสิ้น 961 คน

 

นพ.สุขุมกล่าวว่า สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ร่วมมือผลิตแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เพื่อให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในภูมิลำเนา ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2537 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของประเทศใน 10 ปีข้างหน้า (ปี 2561-2570) และการกระจายแพทย์ที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่ชนบทที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพื่อเติมเต็มในระบบบริการสุขภาพของไทย นำไปสู่ความเสมอภาคการบริการทางสังคม พร้อมรองรับการขยายการให้บริการทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ คัดเลือกเด็กนักเรียนในเขตพื้นที่ชนบทรับทุน สธ. ศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตระยะเวลา 6 ปี เป้าหมายการรับนักศึกษา แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (ปี 2561-2564) จำนวน 4,784 คน และระยะที่ 2 (ปี 2565-2570) จำนวน 7,798 คน รวม 12,582 คน

Advertisement

นพ.สุขุมกล่าวว่า ในการดำเนินงานจะประสานงานกับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกของโรงพยาบาลครอบคลุม 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ คัดเลือกเด็กนักเรียนจากพื้นที่ชนบท รับทุน สธ.เพื่อเรียนแพทย์เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งการเรียนการสอนชั้นคลินิกปีที่ 1-3 เรียนที่คณะแพทยศาสตร์คู่ความร่วมมือ ส่วนชั้นคลินิกปีที่ 4-6 เรียนที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปสังกัด สธ. ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษามีสัญญาผูกพันให้กลับไปปฏิบัติงานที่ภูมิลำเนาเดิม หรือที่ สธ.กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี หากไม่สามารถปฏิบัติได้จะต้องชดใช้เงินให้แก่ สธ. ซึ่งข้อมูลจากโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทปี 2560 ปัจจุบันมีแพทย์ในโครงการนี้อยู่ในระบบ ร้อยละ 77 ในขณะที่แพทย์ทั่วไปยังคงอยู่ในระบบ ร้อยละ 26 ทั้งนี้ สำหรับผลการดำเนินการในรอบ 25 ปี รับนักศึกษา ตั้งแต่ปี 2538-2561 รวม 24 รุ่น จำนวน 15,304 คน และมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาแล้ว 18 รุ่น จำนวน 8,923 คน และปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ 6 รุ่น สำหรับในปีการศึกษา 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 961 คน จากสถาบันการศึกษา 38 แห่ง โดยทั้งหมดจะกลับไปปฏิบัติงานทั่วทุกภูมิภาค แบ่งเป็น ภาคเหนือ 111 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 333 คน ภาคกลาง 197 คน ภาคตะวันออก 73 คน ภาคตะวันตก 39 คน และ ภาคใต้ 208 คน

Advertisement

“จากการผลิตแพทย์ได้อาศัยความร่วมมือศูนย์การแพทย์ 12 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์ทั่วไปของ สธ. 37 แห่ง ทำให้สามารถผลิตแพทย์ได้ถึงปีละ 1,000 ราย โดยจากการวิเคราะห์และติดตามผลโครงการพบบัณฑิตแพทย์ยังคงทำงานอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล ร้อยละ 70 โดยโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบทจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถดูแลผู้ป่วยในส่วนภูมิภาคได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกัน สธ.ยังได้ติดตามข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ พบอาจารย์แพทย์รุ่นใหม่และผู้บริหารระดับสูงบางส่วนยังมาจากโครงการดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของการผลิตแพทย์เป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ การผลิตแพทย์ยังเกิดจากการกลั่นกรอง โดยอาจารย์และแพทย์รุ่นพี่ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดเข้าอบรมในมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลที่อยู่ในภูมิลำเนาเดิม ทำให้มีความคุ้นเคยและเข้าใจปัญหาบริบทของพื้นที่ รวมถึงผ่านเกณฑ์การประเมินตามระบบแพทยสภา จึงทำให้คุณภาพของแพทย์เป็นที่น่าพอใจ” นพ.สุขุมกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image