สวทช.ตั้ง “ศูนย์ข้อมูลจุลินทรีย์แห่งอาเซียน” รวบรวมข้อมูลจุลินทรีย์ที่ค้นพบ 3 หมื่นชนิด

สวทช.ตั้ง “ศูนย์ข้อมูลจุลินทรีย์แห่งอาเซียน”
รวบรวมข้อมูลจุลินทรีย์ที่ค้นพบ 3 หมื่นชนิด

รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่งของโลกโดยเฉพาะความหลากหลายของจุลินทรีย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และถือเป็นรากฐานความสำคัญของเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมด้านอาหาร การแพทย์ การเกษตร และพลังงาน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพให้ทันกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่ง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมมือกับเครือข่ายอาเซียนด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ (ASEAN Network on Microbial Utilization: AnMicro) และ ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB) พัฒนาและจัดตั้งศูนย์ข้อมูลจุลินทรีย์แห่งอาเซียน โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกองทุนอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ASEAN Science, Technology and Innovation Fund) นำไปสู่การพัฒนาฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน หรือ AmiBase ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีการรวบรวมข้อมูลของจุลินทรีย์ที่ค้นพบในอาเซียนไว้มากกว่า 30,000 ชนิด ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้มีประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทางเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิภาค ให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ

นายสมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่า ฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน เป็นอีกโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถแก่นักวิจัยในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลจุลินทรีย์ของอาเซียนซึ่งก่อนหน้านี้เก็บกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ไว้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดการศึกษาการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ และเร่งการค้นพบนวัตกรรมจุลินทรีย์อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจชีวภาพ

นส. ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร นักวิจัยไบโอเทค และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียน จัดตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการข้อมูลจุลินทรีย์ในหลากหลายมิติจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ ข้อมูลพันธุกรรมระดับยีนและจีโนม รายงานการวิจัย และบทความทางวิชาการ ข้อมูลการเก็บรักษา และบริการของศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียน เป็นต้น ทั้งนี้ กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในโครงการนี้ที่นำไปสู่ความสำเร็จในการจัดตั้งฐานข้อมูลจุลินทรีย์อาเซียนได้ คือ การสร้างความสามารถด้านการบริหารและการจัดการข้อมูลจุลินทรีย์ ให้กับบุคลากรของศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียน และการเชื่อมโยงข้อมูลจุลินทรีย์เหล่านี้ไปยังกลไกการเผยแพร่ความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียน (CHM) จะช่วยให้มีข้อมูลในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากศูนย์ทรัพยากรจุลินทรีย์ในอาเซียนที่มีส่วนร่วมให้ข้อมูลทั้ง 16 แห่ง ต่างมีความมุ่งหมายจะช่วยเชิญหน่วยงานในประเทศของตนเข้าร่วมในโครงการเพื่อพัฒนาความสามารถของบุคลากรในการจัดการข้อมูลจุลินทรีย์และร่วมพัฒนาฐานข้อมูลจุลินทรีย์ของอาเซียน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image