สกู๊ปหน้า 1 : ‘กัญชา’ไม่ใช่ยาวิเศษ คุณอนันต์แต่ก็โทษมหันต์

ขณะที่สังคมไทยกำลังตื่นตัวกับการนำ “พืชกัญชา” มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นดั่งยาวิเศษรักษาได้แทบทุกโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย เตรียมนำสารสกัดจากกัญชามาทดลองใช้กับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งใช้ใน 4 กลุ่มโรค แต่อีกด้านหนึ่งก็มีกระแสเรียกร้องให้ใช้รักษาโรคอย่างกว้างขวาง เพราะมั่นใจในสรรพคุณทางยาของพืชกัญชานั้น

ล่าสุด ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเวทีให้ความรู้ สังคมไทย : ทางไปของกัญชาŽ

ทั้งนี้ ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ของประเทศไทยว่า ถ้าพูดถึงข้อสรุปข้อมูลทางการแพทย์ พืชกัญชามีสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (cannabinoid) อยู่หลายชนิด ชนิดและที่มีข้อมูลใช้ทางการแพทย์มากมี 2 ชนิด คือ Tetrahydrocannabinol (THC) และ cannabidiol (CBD) ทั้ง 2 สารเป็นสารที่ละลายในไขมัน ทั้งนี้ สารทีเอชซีในขนาดที่เหมาะสมจะมีผลในการลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้ แต่หากได้รับในขนาดสูงจะทำให้มีอาการเมาเคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน รบกวนการรับรู้การตัดสินใจและความจำ นอกจากนี้การใช้สารทีเอชซีขนาดสูงสม่ำเสมอทำให้เกิดภาวะดื้อต่อสาร (tolerance) ทำให้ต้องมีการเพิ่มขนาดเพื่อจะให้ได้ผลเท่าเดิมและเกิดการติดยาได้

“ส่วนสารซีบีดีเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอาการเมาเคลิ้มและอาการทางจิตของสารทีเอชซี มีการศึกษาใช้สารซีบีดีเพื่อควบคุมอาการชักและอาการปวด แต่ยังไม่พบว่าทำให้เกิดการดื้อหรือติดŽ”ผศ.นพ.สหภูมิกล่าว

Advertisement

ผศ.นพ.สหภูมิกล่าวว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัดให้สารทีเอชซีเป็นสารเสพติดประเภทที่ 1 คือ มีโอกาสเสพติดได้ มีโอกาสนำไปใช้ในทางที่ผิด แต่มีประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่จัดให้สารซีบีดีไม่เป็นสารเสพติด แต่สำหรับพืชกัญชา ยังนับว่าเป็นสารเสพติดประเภทที่ 1 ทั้งนี้ พืชกัญชาแต่ละพันธุ์จะมีระดับสารทีเอชซีและสารซีบีดีแตกต่างกัน ขณะเดียวกันเทคนิคการปลูกก็มีผลต่อระดับสารเหล่านี้ด้วย ผลที่ได้จากการใช้กัญชาจากแต่ละแหล่งจึงแตกต่างกัน

ผศ.นพ.สหภูมิกล่าวว่า ในกลุ่มที่ต้องการฤทธิ์เมาเคลิ้ม หรือนำมาเสพเพื่อสันทนาการจะพยายามพัฒนาให้กัญชามีระดับสารทีเอชซีสูง และมีสารซีบีดีต่ำ ในการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ระดับค่าเฉลี่ยของสารทีเอชซีในพืชกัญชาเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 4 ในปี 1995 เป็นร้อยละ 12 ในปี 2015 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของสารซีบีดีลดลงจากร้อยละ 0.5 ในปี 2000 เหลือเพียงร้อยละ 0.1 ในปี 2015

“ดังนั้นการจะนำกัญชาและสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มาใช้ในทางการแพทย์ จะต้องควบคุมให้พืชที่นำมาใช้มีมาตรฐาน (standardize) มีปริมาณสารที่คงที่และไม่มีสารทีเอชซีสูงจนเกินไป และต้องไม่มีสารปนเปื้อน ปัจจุบันมีการนำสารสกัดจากกัญชาในรูปน้ำมัน เนย และขี้ผึ้ง ซึ่งจะนำไปแปรรูปต่อเป็นขนมหรืออาหาร ซึ่งพบว่ามีระดับสารทีเอชซีสูงมากกว่าที่พบในธรรมชาติหลายเท่า โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ดูภายนอกจะไม่ต่างกับขนมหรืออาหารทั่วไป ทำให้เกิดการกินโดยไม่ตั้งใจ และบาดเจ็บจากสารทีเอชซีเกินขนาดได้”Ž ผศ.นพ.สหภูมิกล่าว

นอกจากนี้ ผศ.นพ.สหภูมิกล่าวอีกว่า เมื่อนำสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มาใช้ทางการแพทย์ พบว่าสารทีเอชซีสามารถลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และลดปวดได้ ส่วนสารซีบีดีมีที่ใช้ทางการแพทย์ในการ
ลดปวดและควบคุมอาการชักได้ สำหรับภาวะอื่นๆ ยังต้องมีข้อมูลสนับสนุนในคนเพิ่มเติม ปัจจุบันองค์การอาหารและยาของสหรัฐให้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ของสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ คือ 1.ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่รับยาเคมีบำบัดเมื่อใช้ยามาตรฐานไม่ได้ผล 2.ลดอาการเบื่ออาหารน้ำหนักลดในผู้ติดเชื้อเอชไอวี 3.โรคลมชักรุนแรง 2 ชนิด ที่ชื่อว่า Lennox-Gastaut syndrome และ Dravet syndrome ขณะที่ประเทศออสเตรเลียจะเพิ่มให้ใช้กรณีควบคุมอาการปวดเรื้อรัง รักษาอาการปวดจากโรคเอ็มเอส ลดปวดและคลื่นไส้ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งข้อบ่งชี้ของออสเตรเลียนั้น กำหนดไว้ว่าให้ใช้เมื่อการรักษามาตรฐานยังได้ผลไม่ดีเท่านั้น

ผศ.นพ.สหภูมิยังกล่าวถึงผลระยะยาวของการเสพกัญชาว่า พบว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคจิต การฆ่าตัวตาย การติดยา สมองฝ่อ ความคิดความจำผิดปกติ เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ถุงลมโป่งพอง และมะเร็งอัณฑะ ทั้งนี้การสื่อสารให้เข้าใจการใช้สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ทางการแพทย์นั้น แตกต่างจากการเสพกัญชา

“ข้อมูลของรัฐโคโลราโดพบผู้ที่เสพติดกัญชาเพิ่มขึ้น ผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ที่ตรวจพบสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มากขึ้น ผู้ที่ทำร้ายตนเองที่ตรวจพบสารกลุ่มแคนนาบินอยด์มากขึ้น และพบว่ามีอัตราการนอนโรงพยาบาลจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับกัญชามากขึ้น หลังการประกาศใช้กัญชาทางการแพทย์และเสรีกัญชาในรัฐอื่นๆ ในสหรัฐที่อนุญาตใช้แคนนาบินอยด์ทางการแพทย์ บางรัฐมีการจำกัดปริมาณสารทีเอชซีให้ต่ำ และสารซีบีดีให้สูง ขณะที่รัฐที่เปิดเสรีกัญชามีการควบคุมระดับสารทีเอชซีในผลิตภัณฑ์และมีการติดตามและจำกัดปริมาณการซื้อผลิตภัณฑ์ต่อคนŽ”ผศ.นพ.สหภูมิกล่าว

สรุปก็คือ สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ในขนาดที่เหมาะสมมีประโยชน์ทางการแพทย์ มีบางข้อมูลสนับสนุนเพียงพอแล้ว แต่อีกหลายข้อยังต้องศึกษาเพิ่มเติม หากไม่มีการควบคุมระดับสารให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยและมีมาตรฐานสารกลุ่มแคนนาบินอยด์และกัญชา ก็มีผลข้างเคียงและมีโทษต่อสุขภาพแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image