“ประกันสังคม” โชว์ผลวินิจฉัยลูกจ้างประสบอันตราย-เจ็บป่วยจากงาน

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยถึง ผลการวินิจฉัยเรื่องการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานประจำปี 2561 ว่า ในปี 2561 มีลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจำนวน 86,376 ราย โดยข้อมูลในปี 2562 (มกราคม-เมษายน) มีลูกจ้างที่อยู่ในข่ายได้รับเงินทดแทน จำนวน 29,336 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดือน (มกราคม-เมษายน 2561) จำนวน 3,194 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 12.22

“จากตัวเลขของลูกจ้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว กองทุนเงินทดแทนของสปส.ในฐานะที่ดูแลจึงขอให้ลูกจ้างตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งนี้ รวมถึงสถานประกอบการต้องให้ความระมัดระวังความปลอดภัยในการทำงาน และหากเป็นเหตุการณ์ที่ประสบอันตราย นายจ้างต้องมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน พ.ศ.2537 (กท.16) ส่งให้สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ที่นายจ้างขึ้นทะเบียนไว้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบการประสบอันตรายของลูกจ้าง กรณีลูกจ้างประสบอันตรายเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน แนะนำให้นายจ้าง ส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน โดยที่นายจ้างไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาล่วงหน้า และสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวงกำหนดอัตรา ค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2558 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรังตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในกฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง ลักษณะการประสบอันตรายฯ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีก 100,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน 300,000 บาท หรือหากไม่เพียงพอ สามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้ รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์ และสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีกแต่รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา คณะกรรมการกองทุน เงินทดแทนให้ความเห็นชอบ เว้นแต่ลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ ตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษาหรือมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่เริ่มแรก แต่ภายหลังได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐสามารถเบิกเพิ่มได้ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท” นายอนันต์ชัย กล่าว

ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่สะดวก หรือ โทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.sso.go.th

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image