เล็งวิจัย “สารสกัดกัญชา” กับผู้ป่วยโรคผิวหนัง “สะเก็ดเงิน-เด็กผีเสื้อ”

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กล่าวการนำสารสกัดกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ว่า ส่วนหนึ่งเพื่อผู้ป่วย และอีกส่วนเพื่อการวิจัย โดยมีทั้งโรคลมชัก ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งที่เป็นมะเร็ง และไม่เป็นมะเร็ง การวิจัยเกี่ยวกับกัญชารักษามะเร็งได้หรือไม่ รวมถึงมี่แผนจะวิจัยเกี่ยวกับโรคผิวหนังด้วย

นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ที่ปรึกษาผู้อำนวยการด้านวิชาการ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สำหรับโรคทางผิวหนังนั้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรคที่พบได้บ่อย และพบได้น้อย อาทิ กลุ่มโรคทางกรรมพันธุ์ โรคเด็กผีเสื้อ ในกรณีเด็กผีเสื้อมีอาการรุนแรงเด็กจะมีอาการปวดมาก ก็จะใช้ในลักษณะคนไข้มีอาการปวดจากโรคเรื้อรัง และกลุ่มโรคกรรมพันธุ์หนังหนา โดยจะใช้เป็นลักษณะครีมทา รวมถึงต่อยอดวิจัยในโรคสะเก็ดเงินด้วย

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันมะเร็งฯ เตรียมนำสารสกัดน้ำมันกัญชาที่ได้จาก อภ.มาศึกษาประสิทธิภาพว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง ทำลายเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ได้หรือไม่ โดยมี นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งฯ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย ซึ่งจะเน้นโรคมะเร็งที่พบมากในประเทศไทย คือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก

“ภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะเริ่มทดลองในระดับเซลล์ ซึ่งจะจำแนกเซลล์มะเร็งแต่ละชนิด และหยดสารสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อดูว่ามีการตอบสนองหรือไม่ คาดว่าใช้เวลา 3-4 เดือน หากมีการตอบสนองก็จะเดินหน้าศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองและในมนุษย์อีก 20 ราย ควบคู่กันไป ซึ่งคาดว่าไม่เกินปีนี้ หากได้ผลจะมีการขยายไปยังโรงพยาบาลมะเร็งอื่นๆ ต่อไป” นพ.วีรวุฒิ กล่าวและว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนำกัญชามาใช้รักษามะเร็ง แต่มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เข้าใจอย่างนั้น จนทิ้งการรักษายาแผนปัจจุบันไปพึ่งสารสกัดน้ำมันกัญชา ซึ่งมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่า มีผู้ป่วยที่กลับไปรักษาที่สถาบันมะเร็งฯ ด้วยอาการซึม ไม่รู้สึกตัว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะน้ำมันกัญชาที่ใช้ไม่มีคุณภาพ สภาพร่างกายแตกต่างกัน ปริมาณการใช้แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image