ครบ 1 ปี วาฬนำร่อง กินพลาสติกก่อนสำรอก และช็อคตายคาทะเล ผ่าท้อง พบขยะ 8 กิโล

ครบ 1 ปี วาฬนำร่อง กินขยะพลาสติกตาย ปลัด ทส. วอนลด เลิก พลาสติก-โฟม

จากเหตุการณ์พบวาฬนำร่องครีบสั้นลอยเข้ามาในคลองด้วยอาการอ่อนแรง ไม่สามารถดำน้ำได้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ในทะเลอ่าวไทยบริเวณ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จ.สงขลา ได้พยายามให้การรักษาและช่วยชีวิต ต่อมาวาฬตัวดังกล่าวเกิดอาการเกร็งตัว และสำรอกพลาสติกออกมา 4 ชิ้น ก่อนเริ่มมีอาการช็อค และตายในวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ซึ่งจากการพิสูจน์สาเหตุการตาย พบซากถุงพลาสติกที่อยู่ในท้องวาฬถึง 85 ชิ้น น้ำหนักรวมกว่า 8 กิโลกรัม ในกระเพาะอาหาร ทำให้ไม่สามารถย่อยอาหารได้เลย

นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า นับถึงวันนี้ ก็ครบรอบ 1 ปี กับการสูญเสียสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไป ซึ่งกรณีดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจและเป็นข่าวโด่งดังไปทั้งโลก เมื่อปีก่อน นั้น นับจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทส. ได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ สงวน และรักษาชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ไม่ใช่เพียงแค่วาฬนำร่องครีบสั้นเท่านั้น อีกทั้ง ได้ถอดบทเรียนเรื่องการแก้ไขปัญหาและการจัดการขยะที่ลงสู่ทะเล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการตายของสัตว์ทะเลหายากด้วย

Advertisement

 

ขยะในท้องวาฬนำร่อง

Advertisement

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดทส. กล่าวว่า ได้เสนอแนวทางการจัดการขยะจากแหล่งกำเนิด การกำจัด และการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม โดยได้เสนอ โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายในการลดและเลิกใช้พลาสติก บางประเภทภายในปี พ.ศ. 2562 เช่น พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม และเลิกใช้พลาสติกประเภทถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติกภายในปี พ.ศ. 2565 รวมทั้งมีการกำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมดำเนินการ ตลอดจนมีการกำหนดกลไกในการขับเคลื่อน เช่น สร้างความรู้ ความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความร่วมมือการดำเนินงานรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

“นอกจากแนวทางดังกล่าวแล้ว ผมอยากฝากไปยังพี่น้องประชาชนทุกท่านว่า จิตสำนึกของเราเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ไม่ว่ามาตรการใด จะมีบทลงโทษหนักเพียงใดหรือแนวฎิบัติอย่างไรก็ตาม หากทุกคนไม่ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่สาธารณะยังมีการใช้พลาสติกและโฟมอย่างฟุ่มเฟือย ทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง ผลกระทบนอกจากเกิดกับสัตว์ทะเลและสัตว์บกที่กินเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหารจนต้องตายเพราะย่อยไม่ได้แล้ว มนุษย์เราก็เป็นผู้ที่จะได้รับอันตรายจากพิษของขยะตกค้างที่อยู่ในระบบนิเวศนี้ด้วยเช่นกันทั้งทางตรงและทางอ้อม” ปลัดทส.กล่าว

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า ทช. ได้ผลักดันให้สัตว์ทะเลหายากอีกหลายชนิด บรรจุเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 จนประสบความสำเร็จโดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน นับจากวันประกาศ ทั้งนี้ สัตว์ทะเลหายาก ได้แก่พยูนที่ได้รับการขึ้นบัญชีอยู่ก่อนแล้ว ได้มีการประกาศเพิ่มเติมได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ เต่ามะเฟือง และปลาฉลามวาฬ เพื่ออนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกแก่รุ่นลูกรุ่นหลาน ต่อไป จึงขอให้ประชาชนให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกันอนุรักษ์และร่วมกันดูแล หากพบเห็นการเกยตื้นของสัตว์ทะเล การกระทำผิดใด ๆ สามารถแจ้งให้ทช.ทราบได้ตลอด24ชั่วโมงและที่สำคัญคือโปรดช่วยกันลดการใช้พลาสติกและเลิกการใช้โฟม ก็จะเป็นการช่วยให้เกิดขยะทะเลน้อยลงและสัตว์ทะเลหายากต่างๆก็จะคงอยู่คู่ทะเลไทยไปนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image