บอร์ดคุมยาสูบดัน “ยาเลิกบุหรี่” เข้าบัญชียาหลักฯ รักษากลุ่มติดงอมแงม2.3ล้านคน

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการควบคุมยาสูบประจำจังหวัด พร้อมผู้ช่วยฝ่ายกฎหมาย เพื่อดำเนินการเรื่องการควบคุมยาสูบโดยเฉพาะและมีความชัดเจน อีกทั้งให้นำจังหวัดที่ดำเนินการแก้ไขปัญหายาสูบในระดับพื้นที่ได้ดีมาเป็นแบบอย่าง เช่น สงขลา สกลนคร อุดรธานี เชียงราย เป็นต้น

“ขณะเดียวกัน ที่ประชุมจะเร่งผลักดันให้คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติพิจารณาบรรจุยาเลิกบุหรี่เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางหลักเกณฑ์การจ่ายยา เบื้องต้นคือ ต้องเหมาะสมกับประเภท ผู้สมควรรับยา และผู้สั่งจ่ายต้องเป็นแพทย์เท่านั้น” ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าว

ทั้งนี้ ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับ 4 กลไกที่ต้องทำของคณะกรรมการยาสูบระดับจังหวัด คือ 1.จัดทำระบบเฝ้าระวังและติดตามผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2.ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยให้ประสานการทำงานร่วมกับโรงเรียนทั่วประเทศ 3.ช่วยเหลือผู้เสพติดบุหรี่ให้เข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ และ 4.ผลักดันเรื่องสถานที่ปลอดบุหรี่ให้สำเร็จ โดยบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มข้น

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงเกณฑ์ของผู้ที่เหมาะสม ควรได้รับยาลดอาการอยากบุหรี่ตามที่จะเสนอคณะกรรมการบัญชียาฯ ว่า 1.ต้องเป็นผู้ที่ตื่นนอนแล้วสูบบุหรี่ทันทีภายใน 30 นาทีแรก 2.แม้ป่วยเป็นไข้หวัด แต่ก็ยังสูบบุหรี่ 3.แม้ทำงานอยู่ในห้องประชุมก็ต้องออกมาสูบบุหรี่ และ 4.มีอัตราการสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน ซึ่งปัจจุบันพบอัตราการสูบบุหรี่ของคนกลุ่มนี้มีถึง 2.3 ล้านคน ขณะที่ผู้สูบบุหรี่ในอัตรา 10 มวนต่อวัน มีประมาณ 10 ล้านคน อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มที่ 2 หากอยากเลิกบุหรี่จะต้องได้รับคำปรึกษาทั่้วไป ไม่ครอบคลุมการให้ยาเลิกบุหรี่

Advertisement

“เนื่องจากยาเลิกบุหรี่ถือว่ามีความจำเป็นสำหรับรายที่ติดบุหรี่อย่างหนักจนไม่สามารถเลิกได้เอง ซึ่งมีประมาณ 2.3 ล้านคน การทำให้ผู้ติดบุหรี่อย่างหนักได้เข้าถึงยาจะช่วยลดความสูญเสียด้านสุขภาพ และค่าใช้จ่ายได้มาก เพราะเมื่อเทียบความสูญเสียในผู้ป่วยโรคเดียวกัน ระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่กับไม่สูบ พบว่าผู้สูบบุหรี่ต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 40 และผู้สูบต้องเสียค่าใช้จ่ายรักษาสูงกว่าคนไม่สูบถึงร้อยละ 60” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image