สปสช.รุก 4 โครงการ สร้างเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรค 10 ล้านคนในกรุงเทพฯ ต่อเนื่อง

ปี’62 สปสช.รุก 4 โครงการดูแลคนกรุง “คลินิกผู้สูงอายุครบวงจรในโรงพยาบาล-คัดกรองสุขภาพแรงงานนอกระบบ/ผู้ขับขี่รถสาธารณะ-ร้านยาชุมชนอบอุ่น/คัดกรองความเสี่ยงภาวะเมตาบอลิก และ หน่วยบริการร่วมบริการทันตกรรม” ใช้สิทธิปีละ 1 ครั้ง 

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง เป็นกองทุนจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลคนไทยกว่า 48 ล้านคนทั่วประเทศ ทั้งนี้ รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งแม้จะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีพื้นที่ไม่มาก แต่ประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น โดยตามทะเบียนราษฎรมีประมาณ 5 ล้านคน ไม่นับรวมประชากรแฝงอีกจำนวนมาก ซึ่งรวมแล้วมีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น หากดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อระบบสุขภาพในภาพรวมของประเทศได้ ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. จึงได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) หน่วยบริการในพื้นที่ รวมถึงภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมดูแลสุขภาพประชาชน และเพิ่มเติมการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น 

Advertisement

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในปี 2562 สปสช.เขต 13 กทม. ได้ดำเนินงาน 4 โครงการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับชาว กรุงเทพฯ เพิ่มเติม และเป็นการต่อยอดจากที่ดำเนินการไปแล้ว ประกอบด้วย 1.โครงการคลินิกผู้สูงอายุครบวงจรในโรงพยาบาล เป็นหนึ่งในโครงการรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อคัดกรองและดูแลประชาชนคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีสุขภาพที่ดี เน้นประเมินสุขภาพแบบองค์รวมจากทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาล สามารถรับบริการได้ที่หน่วยบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกิจกรรมคัดกรองสุขภาพ อาทิ การประเมินความเสี่ยงสุขภาพ ซึ่งมีทั้ง การตรวจวัดสายตา ภาวะกระดูกพรุน สมรรถภาพทางสมอง ภาวะโภชนาการ ไขมันในเลือด และการทำงานของไต เป็นต้น

2.โครงการคัดกรองสุขภาพแรงงานนอกระบบในผู้ขับขี่รถสาธารณะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพราะแต่ละวันต้องใช้ชีวิตบนท้องถนนภายใต้สภาวะแวดล้อมฝุ่นและควันรถ อีกทั้งมีความเสี่ยงต่อการรับและเป็นผู้แพร่กระจายโรค เพราะแต่ละวันต้องพบปะคนจำนวนมากที่ใช้บริการ ดังนั้นการคัดกรองสุขภาพสำหรับคนกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ กลุ่มแรงงานนอกระบบยังเป็นผู้มีสิทธิบัตรทองเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม ที่ผ่านมา สปสช.ได้สนับสนุนโครงการการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ ของกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อตรวจสุขภาพและให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากการทำงาน รวมถึงเฝ้าระวังสุขภาพของแรงงานนอกระบบ ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต ของกรุงเทพฯ

“ผลดำเนินงานที่ผ่านมา พบความผิดปกติของสุขภาพที่ตรวจพบในกลุ่มผู้ขับขี่พาหนะ แท็กซี่ รถตู้ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 3 อันดับแรก คือ ความผิดปกติของการมองเห็น สูงถึงร้อยละ 78 ความผิดปกติจากการทำงานของปอด ร้อยละ 44 และความผิดปกติการได้ยิน ร้อยละ 31 โดยได้แนะนำให้เข้ารับบริการยังหน่วยบริการตามสิทธิต่อไป และในปีนี้ ยังคงมีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

Advertisement

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า 3.โครงการร้านยาชุมชนอบอุ่น เป็นที่ทราบว่า โรคเมตาบอลิก ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง และโรคอ้วน เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ เกิดจากการพฤติกรรมบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป เน้นหวาน มัน เค็ม การคัดกรองความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่พื้นที่กรุงเทพฯ มีประชากรมาก ทั้งหน่วยบริการยังมีจำกัด จึงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการคัดกรองสุขภาพของคนกรุงเทพฯ ซึ่งร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) เป็นหน่วยบริการด้านยากระจายอยู่ตามชุมชน มีความสะดวกต่อประชาชนในการเข้ารับบริการได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชนในการเข้าถึงบริการคัดกรองโรคได้ ที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรมชุมชนดำเนินโครงการ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ใน 11 เขตพื้นที่กรุงเทพฯ และเริ่มดำเนินตั้งแต่เดือนเมษายน ล่าสุดมีร้านขายยาแผนปัจจุบัน เข้าร่วมดำเนินงานแล้ว 26 แห่ง

“ส่วนกิจกรรมในร้านยาชุมชนอบอุ่น อาทิ ตรวจคัดกรองความเสี่ยงเบื้องต้นด้วยใช้แบบคัดกรองความเสี่ยง ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจร่างกาย ประเมินภาวะอ้วนลงพุง การตรวจเลือดโดย DTX เพื่อหาภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน บันทึกผลการตรวจคัดกรองในสมุดบันทึกสุขภาพ และแจกให้กับผู้รับบริการทุกราย และให้คำแนะนำ โดยในกรณีที่พบความผิดปกติจะมีการส่งต่อเพื่อรักษาต่อเนื่องยังหน่วยบริการตามสิทธิ” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวและว่า 4.โครงการหน่วยบริการร่วมให้บริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน สปสช.ได้ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.และคลินิกทันตกรรมเอกชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมโครงการ 62 แห่ง มุ่งให้เกิดการเข้าถึงบริการทันตกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมป้องกัน เนื่องจากปัญหาฟันและสุขภาพช่องปากจะนำมาสู่ปัญหาสุขภาพร่างกายในด้านอื่นๆ ตามมาและรุนแรงได้

ทั้งนี้ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สำหรับบริการทันตกรรมส่งเสริมป้องกันครอบคลุมประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ทุกสิทธิ บริการตั้งแต่การตรวจสุขภาพช่องปากและให้คำแนะนำทุกกลุ่มวัย เคลือบฟลูออไรด์เจล หรือทาฟลูออไรด์วาร์นิชในกลุ่มเสี่ยงสำหรับเด็ก เคลือบฟลูออไรด์เจลหรือทาฟลูออไรด์วาร์นิชด้วยฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูงเฉพาะที่สำหรับเด็กอายุ 6-20 ปี เคลือบหลุมร่องฟันหลังถาวร ซี่ที่ 4, 5 และ 6, 7 โดยวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันสำหรับเด็กอายุ 6-20 ปี ทาฟลูออไรด์วานิชสำหรับผู้สูงอายุ และขูดหินปูน ทำความสะอาดฟันทั้งปากในหญิงตั้งครรภ์

“การบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั้ง 4 โครงการที่ สปสช.เขต 13 กทม. ได้ดำเนินการนี้ ครอบคลุมประชาชนคนไทยที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกสิทธิ โดยสามารถใช้สิทธิเข้ารับการคัดกรองสุขภาพได้ฟรีปีละ 1 ครั้ง จึงขอเชิญชวนประชาชนขาวกรุงเทพผู้มีสิทธิเข้ารับบริการเพื่อดูแลสุขภาพที่ดีได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image