‘กทม.’ แจงเหตุท่วมเพราะฝนแรง-สถานีสูบขัดข้อง เล็งติดเครื่องสำรองไฟ ‘อุโมงค์ยักษ์บางซื่อ’

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีเกิดน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลังเกิดฝนตกหนักเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า สาเหตุหลักมาจากปริมาณฝนสะสมมากถึง 136 มิลลิเมตร (มม.) ส่วนความรุนแรงของฝนนั้นอยู่ที่ 160 มม.ต่อชั่วโมง เป็นปริมาณฝนที่ กทม.ไม่สามารถรับมือได้ เนื่องจากลักษณะกายภาพของพื้นที่มีความลุ่มต่ำ และข้อจำกัดของระบบระบายน้ำเดิมของ กทม.

แฟ้มภาพห้องข่าวเตือนภัยน้ำท่วม กทม.

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า กทม.มีพื้นที่ครอบคลุม 1,500 ตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งปัจจุบัน กทม.มีจุดอ่อนน้ำท่วมแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ จุดเสี่ยงน้ำท่วม รวม 14 จุด เมื่อปริมาณฝนไม่ถึง 60 มม. ก็ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ประกอบด้วย 1.ถนนแจ้งวัฒนะจาก คลองประปาถึงคลองเปรมประชากร 2.ถนนรัชดาภิเษกช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ 3.ถนนพหลโยธินช่วงหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตร 4.ถนนประชาราษฎร์สาย2ช่วงแยกเตาปูน 5.ถนนราชวิถีช่วงหน้าราชภัฎสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธน 6.ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์ 7.ถนนศรีอยุธยาช่วงหน้าสน. พญาไท 8.ถนนจันทน์ จากซอยบำเพ็ญกุศล-ไปรษณีย์ยานนาวา 9.ถนนสวนพลูจากถนนสาทรใต้-ถนนนางลิ้นจี่ 10.ถนนสาธุประดิษฐ์บริเวณแยกตัดถนนจันทน์ 11.ถนนสุวินทวงศ์ช่วงจากคลองสามวา-คลองแสนแสบ 12.ถนนเพชรเกษมจากคลองทวีวัฒนา-คลองราชมนตรี 13.ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ และ 14.ถนนบางขุนเทียน จากถนนพระราม 2-ถนนบางขุนเทียนชายทะเล ทั้ง 14 จุดนี้ หมายความว่าถ้าปริมาณฝนเกิน 60 มม. น้ำท่วมแน่นอน

แฟ้มภาพห้องข่าวเตือนภัยน้ำท่วมกทม.

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนจุดเฝ้าระวัง รวม 56 จุด ซึ่งเมื่อฝนตกเกิน 60 มม.จะเกิดน้ำท่วมขัง ประกอบด้วย 1.ถนนพระราม3 ช่วงตลาดฮ่องกงปีนัง-แยก ณ ระนอง 2. ถนนพระราม4 ช่วงแยกสุขุมวิท-แยกโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ 3.ถนนสุนทรโกษา 4.ถนนเทศบาลสงเคราะห์ คลองประปา-คลองเปรมประชากร 5.ถนนกำแพงเพชร แยกถนนกำแพงเพชร1 6.ถนนกำแพงเพชร2 ช่วงหมอชิต 7.ถนนกำแพงเพชร3 สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์-กำแพงเพชร 8 ถนนงามวงศ์วาน ช่วงแยกเกษตร 9.ถนนพหลโยธิน กรมการขนส่งทางบก 10.ถนนรัชดาภิเษกแยกรัชโยธินถึงซอยอาภาภิรมย์ 11.ถนนดินแดงช่วงซอยสุทธิพร2และแยกประชาสงเคราะห์ 12.ถนนประชาสงเคราะห์ตลอดสาย 13.ถนนประชาสุขตลอดสาย 14. ถนนรัชดาภิเษก แยกพระราม9-แยกห้วยขวาง 15.ถนนวิภาวดีรังสิต 16.ถนนนครชัยศรี ตลาดศรีย่าน 17.ถนนศรีอยุธยา ลานพระราชวังดุสิต 18.ถนนแจ้งวัฒนะ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร 19.ถนนพหลโยธิน บริเวณวงเวียนหลักสี่หน้า สน. บางเขน 20. ถนนรามคำแหง ช่วงมหาวิทยาลัยรามคำแหง

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า 21.ถนนศรีนครินทร์แยกลำสาลี-ถนนกรุงเทพกรีฑา 22.ถนนศรีนครินทร์ วัดศรีเอี่ยม 23.ถนนสุขุมวิทแยกบางนา-สุดเขต 24.ถนนประดิพัทธ์ แยกสะพานควาย 25.ถนนพหลโยธินคลองสามเสน-คลองบางซื่อ 26. ถนนพระราม6 ช่วงทางด่วน 27.ถนนสุทธิสารวินิจฉัยตลอดสาย 28. ถนนวิภาวดีรังสิต 29.ถนนสนามไชยจากซอยเศรษฐการ-ถนนท้ายวัง และรอบสนามหลวง 30.ถนนสุวินทวงศ์ไฟฟ้ามีนบุรี-แยกราชอุทิศ 31.ถนนเพชรบุรีแยกอโศก-มิตรสัมพันธ์ 32.ถนนนิคมมักกะสัน 33 ถนนพระราม6 ตลาดประแจจีน-แยกศรีอยุธยา 34.ถนนราชปรารภ ช่วงประตูน้ำ-แยกดินแดง 35.ถนนศรีอยุธยาวังสวนผักกาด-แยกพญาไทและกระทรวงการต่างประเทศ 36.ถนนลาดพร้าวแยกประดิษฐ์มนูธรรม-คลองจั่น 37.ถนนสุขุมวิท แยกอโศก-สุขุมวิท 71 38.ถนนเอกมัย 39.ถนนอโศกมนตรี 40.ถนนพัฒนาการ แยกศรีนครินทร์-คลองบ้านป่า

Advertisement

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า 41.ถนนรามคำแหงช่วงซ.1-ซ.5 42.ถนนกรุงเทพกรีฑา 43.ถนนเจริญกรุง แยกหมอมีจากถนนแปลงนาม-แยกหมอมี 44.ถนนเยาวราชฝั่งเหนือจากถนนทรงสวัสดิ์-ถนนราชวงศ์ 45.ถนนเซ็นต์หลุยส์3 ช่วงแยกถนนจันทน์ 46.ถนนนางลิ้นจี่ 47.ถนนงามวงศ์วาน ช่วงตลาดพงษ์เพชรและชินเขต 48.ถนนเพชรบุรีแยกอโศก-คลองบางกะปิ 49.ถนนลาดหญ้าวงเวียนใหญ่-โรบินสัน 50.ถนนจอมทองแยกวุฒากาศ 51.ถนนฉิมพลีช่วงอู่สง่า-ถนนบรมมราชชนนานี 52.ถนนเลียบทางรถไฟ 53.ถนนประชาอุทิศ คลองรางตรง-คลองบางจาก 54.ถนนอิสรภาพหน้าตลาดพรานนก 55.ถนนเอกชัยช่วงปากซอยบริษัทกระทิงแดง และ 56.ถนนเพชรเกษมตลาดบาง

แฟ้มภาพห้องข่าวเตือนภัยน้ำท่วมกทม.

“ทำให้ทุกครั้งที่ฝนตกปริมาณเกิน 100 มม. หรือมีความรุนแรงของฝนมากกว่า 100 มม.ต่อชั่วโมง ตั้งแต่ฝนตกจนกระทั่งฝนหยุด น้ำท่วมแน่นอน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กทม.ได้พยายามติดตั้งเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในบริเวณดังกล่าว รวมถึงโครงการเพิ่มประสิทธิระบายน้ำอื่นๆ” นายจักกพันธุ์ กล่าว

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณฝนตกมากถึง 135-136 มม. ซึ่งเกินกว่าที่ กทม.จะรับมือได้ สาเหตุรองคือ การระบายน้ำล่าช้า เกิดจากมีไฟฟ้าดับที่กระทบต่อสถานีสูบน้ำรัชดา-วิภาวดี ตั้งแต่เวลา 14.30-16.25 น.และอุโมงค์บางซื่อ เวลา 15.50-18.20 ทำให้น้ำจากคลองบางซื่อไหลไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกายได้ไม่เต็มที่ และมีผลกระทบกับการระบายน้ำในแนวถนนรัชดาภิเษก แนวถนนวิภาวดี ถนนพหลโยธิน ถนนสุทธิสารวินิจฉัย และพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากไฟฟ้าไม่เข้าเครื่อง จากนั้น กทม.ได้ประสานไปยังการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้เข้ามาช่วยเดินไฟให้ และล่าสุดได้มีการหารือกับ กฟน.ให้เข้ามาช่วย กทม.เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นสถานีสูบน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำของ กทม.ทั่วกรุงเทพฯ

Advertisement

นายจักกพันธุ์ ยังกล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าสำรองในอุโมงค์ระบายซื่อ ว่า ภายในอุโมงค์บางซื่อไม่มีระบบไฟฟ้าสำรองมาตั้งแต่ออกแบบก่อสร้างอุโมงค์แล้ว รวมถึงอุโมงค์ระบายน้ำและสถานีสูบน้ำแห่งอื่น ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อก่อสร้างอุโมงค์บางซื่อแล้วเสร็จและเปิดเดินเครื่องเมื่อปลายปี 2561 จึงได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำ กทม.พิจารณาติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้สำนักการะบายน้ำอยู่ระหว่างร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) แม้ไม่มีเครื่องสำรองไฟ แต่ กทม.ได้มีรถปั่นไฟสำรอง (โมบายเจเนอเรเตอร์) รวม 18 คัน หมุนเวียนประจำสถานีสูบน้ำ เมื่อเกิดปัญหาไฟดับ เนื่องจากอุโมงค์บางซื่อที่มีกำลังสูบมากถึง 60 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที โดย กทม.กำลังพิจารณารูปแบบ ประมาณราคา ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่มาก ทั้งนี้ ในอนาคต กทม.จะดำเนินการติดตั้งเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าในทุกสถานีต่อไป

“อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ถือว่าการระบายน้ำ รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมขังดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ มาก” นายจักกพันธุ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image