แพทย์ผิวหนังเตือนคนไข้ ระวังใช้ “กัญชา” ชี้ผลวิจัยยังไม่ชัดเจน

พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการใช้สารสกัดจากกัญชาบรรเทาอาการทางโรคผิวหนัง ว่า เนื่องจากกัญชาจัดอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง ดังนั้นการศึกษาเพื่อประเมินระหว่างข้อดีและข้อเสีย จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งก่อนที่จะนำมาใช้ในการรักษาโรคได้โดยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้ ทั้งนี้ กัญชามีสารประกอบแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ที่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ โดยสารที่ออกฤทธิ์คือ สารทีเอชซี (THC) ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และสารซีบีดี (CBD) ที่ไม่มีฤทธิ์เสพติด ในสหรัฐอเมริกา ในจำนวนผู้ที่เสพกัญชาทั้งหมด มีประมาณร้อยละ 10 ที่ใช้เพื่อเป็นวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

“มีการศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับการใช้กัญชาสำหรับบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ โรคเบื่ออาหารและคลื่นไส้ ในรอบปีที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาถึงการใช้กัญชาในการบรรเทาอาการทางโรคผิวหนังเพื่อระงับอาการคัน บวม อักเสบ และการเกิดมะเร็งผิวหนัง มีการศึกษาการใช้กัญชารักษาอาการคันของผิวหนังพบว่า มีผลในการรักษาอาการคันของผู้ป่วยได้ถึงร้อยละ 86.4 นอกจากนี้ ยังคาดว่ากัญชาอาจมีคุณสมบัติในการระงับการอักเสบ ซึ่งมีประโยชน์สำหรับใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Atopic dermatitis) และโรคผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis) ซึ่งพบว่ากัญชาช่วยลดอาการแพ้ อาการบวม และการอักเสบในสัตว์ทดลองได้” พญ.ชินมนัส กล่าวและว่า จากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกัญชาโดยทั่วไป มีข้อสันนิษฐานว่ากัญชาน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการรักษาโรคสะเก็ดเงิน และมะเร็งผิวหนัง เนื่องจากมีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเซลล์ผิวหนัง ไม่ให้สร้างมากเกินไป

พญ.ชินมนัส กล่าวว่า มีการศึกษาการใช้สารสกัดจากเมล็ดกัญชาใช้ทารักษาสิวและรังแคอักเสบ (Seborrheic dermatitis) พบว่าช่วยลดอาการแดงและผิวมันได้ อย่างไรก็ตาม ยังพบบางการศึกษาวิจัยให้ผลตรงข้ามกัน โดยพบว่าใช้กัญชาที่ผิวหนังอาจทำให้เกิดปฎิกริยาอักเสบแทนที่จะลดการอักเสบ และบางการศึกษาพบว่า กัญชาลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิด แต่อาจลดการเจริญของเซลล์ผมด้วย ดังนั้นจึงควรให้มีการศึกษาวิจัยทางด้านกัญชามากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนในด้านการรักษาทั้งในด้านบวกและด้านลบ

“ในขณะนี้ยังไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษาเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะกัญชาที่ยังไม่ผ่านการรับรองตำรับจากคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง หรือในกลุ่มอาสาสมัครจำนวนน้อยเท่านั้น และยังต้องคำนึงถึงการควบคุมการผลิตยาจากกัญชาด้วยอัตราส่วนที่ถูกต้องด้วย” พญ.ชินมนัส กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image