อภ.-กรมการแพทย์แผนไทยฯ-ม.เกษตรฯ จับมือ ปลูก วิจัย พัฒนาสายพันธุ์ ‘หางกระรอก’ กัญชาไทย

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 13 มิถุนายน ที่อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กัญชาใช้ทางการแพทย์ เพื่อนำไปใช้ในตำรับแพทย์แผนไทย โดยมี นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ นายวัชรพงษ์ อินทรวงศ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร (มก.ฉกส.) นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการ อภ. ร่วมเป็นสักขีพยาน

รศ.สิรี กล่าวว่า มก.จะวิจัยและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกพืชพันธุ์กัญชาในประเทศไทยให้ได้มาตรฐาน ปลอดภัยและไม่มีสิ่งปนเปื้อน เพื่อส่งผลผลิตนำไปใช้ในตำรับยาไทย รวมถึงพัฒนาพืชกัญชาสายพันธุ์ไทยให้ได้สายพันธุ์ที่ได้ปริมาณสารสำคัญที่คงที่ในการเพาะปลูก เพื่อนำไปผลิตยาและใช้ในการรักษาให้เหมาะสมกับโรค โดยเบื้องต้นจะใช้พื้นที่ปลูกและวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร แบ่งพื้นที่การปลูกเป็นการปลูกในโรงเรือนแบบกรีนเฮาส์ หรือ การปลูกกึ่งเปิดกึ่งปิด และการปลูกกลางแจ้ง ซึ่งขณะนี้ทาง มก. วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ได้เมล็ดมาเพื่อเตรียมการปลูกแล้ว เบื้องต้นเป็นสายพันธุ์ไทย ชื่อ “พันธุ์หางกระรอก” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นที่สามารถหาได้ในพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในอนาคตจะขยายพื้นที่การปลูกมายัง มก. วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ด้วย

นพ.มรุต กล่าวว่า เนื่องจากการปรุงยาตำรับไทยจะต้องใช้กัญชาสายพันธุ์ไทย ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีกัญชามีหลากหลายสายพันธุ์ โดยองค์ความรู้ด้านเกษตรจะช่วยบอกได้ว่า กัญชาแต่ละสายพันธุ์มีสัดส่วนของสารสำคัญที่จะนำมาใช้ในตำรับยาไทยแตกต่างกันอย่างไร สำหรับใน 16 ตำรับ ที่ได้รับการประกาศให้ใช้ทางการแพทย์แผนไทย โดยมีส่วนผสมของกัญชาในการปรุงตำรับยา ล่าสุด คณะกรรมการด้านการประเมินรับรองตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชา และการใช้ยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ได้ดำเนินการพิจารณาตำรับยาของหมอพื้นบ้าน ได้พิจารณาความเห็นชอบ 8 ตำรับ จาก 68 ตำรับที่มีการยื่นขอรับการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการจะรายงานเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการการนำกัญชาและกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยเพื่อพิจารณา หากเห็นชอบจะเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ของ สธ.ต่อไป เพื่อประกาศใช้ต่อไป โดยการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์แผนไทยจะต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วย ได้ประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการใช้

Advertisement

“จึงเป็นเรื่องดีที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การเภสัชกรรม จะพัฒนาพืชกัญชาเพื่อนำไปผลิตยาให้เหมาะสมกับโรค เช่น สายพันธุ์ที่เหมาะสมตำรับยาไทย ส่วนดอก ใบ หรือก้าน ฤดูกาลปลูกที่ได้ผลผลิตที่เหมาะสม เบื้องต้น กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงขอรับผลผลิตกัญชาสดจากสายพันธุ์ไทยทั้งหมด เพื่อนำมารักษาผู้ป่วยควบคู่กับการวิจัย ส่วนในอนาคตจะบอกว่าจะใช้มีส่วนผสมของกัญชาที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การนำวัตถุดิบจากการกระบายการปลูก สู่การแปรรูป การสกัดเพื่อนำไปใช้ในการวิจัย การรักษาพยาบาล รวมถึงจะเก็บข้อมูลการวิจัยและการรักษาพยาบาลและเพิ่มช่องทางการรักษาด้วยช่องอื่นอีกด้วย” นพ.มรุต กล่าว

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะร่วมกันพัฒนาวิธีการปลูก และวิจัยพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยเพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีคุณภาพ มีปริมาณสารสำคัญที่มีสัดส่วนคงที่ สม่ำเสมอ ได้มาตรฐาน ไม่มีสารปนเปื้อน ซึ่งนอกจาก อภ.จะวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ต่างประเทศแล้ว ยังจะร่วมพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยด้วย โดยอนาคตจะร่วมกับพัฒนากัญชาสู่สายพันธุ์โลกทั้งวิธีการปลูก การวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์

Advertisement

“มีความเชื่อว่าสายพันธุ์ที่ปลูกเป็นสายพันธุ์ที่ดี ไม่ได้มีคุณสมบัติด้อยกว่าสายพันธุ์อื่นในต่างประเทศ และขอบเขตของโรคที่รักษานั้นไม่เหมือนกัน จึงมุ่งหวังว่ากัญชาสายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์ต่างประเทศที่ได้นำเข้ามาเพื่อการวิจัย จะเป็นทางเลือกในการรักษาและให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงไทย ไม่ว่าจะเป็นตำรับยาไทย หรือการรักษาด้วยช่องทางพิเศษสำหรับผู้ป่วย” นพ.วิฑูรย์ กล่าว

ด้านนายวัชรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ มก. วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร พร้อมสำหรับการปลูกกัญชาแล้ว โดยเบื้องต้น กรมการแพทย์แผนไทยฯ มีความต้องการ 1,000 กิโลกรัม (กก.) คาดจะเริ่มปลูกภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งนอกจากจะพัฒนาและวิจัยสายพันธุ์ ปลูกและส่งผลิตเพื่อปรุงยาตำรับไทย ทางมหาวิทยาลัยจะต้องสร้างเป็นต้นแบบองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้ปลูกเพื่อขาย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะต้องมีการควบคุมต้นทุนการผลิต จึงแบ่งการปลูกเป็นแบบ 2 ระบบ โดยเป็นการปลูกแบบกรีนเฮ้าส์และปลูกกลางแจ้ง โดยการปลูกการแจ้งคาดจะมีต้นทุนน้อยกว่า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image