‘ศิริราช’ แถลงความสำเร็จ 1ปีรักษา ‘ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน’ ด้วยรถโมบาย125คน

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าว “โครงการนำร่องต้นแบบรถพยาบาลเคลื่อนที่รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รพ.ศิริราช” โดยมี รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริรราช รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช ภาคีเครือข่ายจาก 11 หน่วยงาน อาทิ นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 5 นพ.พรเทพ แซ่เฮ้ง ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ กทม.) ร.อ.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พร้อมกันนี้ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิไทยคม ผู้แทนจากมูลนิธิไทยคมเข้ามอบรถพยาบาลเคลื่อนที่รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (โมบาย สโตรก ยูนิต) คันที่ 2 ให้แก่ รพ.ศิริราช

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 1,880 รายต่อแสนราย สูงกว่าโรคมะเร็ง ที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็ง 200 รายต่อแสนราย สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตันเฉียบพลัน มีความก้าวหน้ามาก ปัจจุบันเรื่องเวลาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะเมื่อเกิดการอุดตันของหลอดเลือด เนื้อสมองในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของการขาดเลือดจะตายอย่างเฉียบพลัน ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนเนื้อสมองบริเวณโดยรอบที่ขาดเลือดไปเลี้ยง จะหยุดทำงานและตายไปในที่สุด ถ้าไม่ได้รับการเปิดหลอดเลือดอย่างทันท่วงที ต่อมาจึงเกิดเป็น “โครงการนำร่องการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันโดยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่โรงพยาบาลศิริราช” ซึ่งเป็น 1 ใน 130 โครงการ ทำงานเพื่อแผ่นดิน เริ่มให้บริการครั้งแรก ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้ได้ให้บริการผู้ป่วยแล้วจำนวน 125 ราย และครบ 1 ปีในการให้บริการ

Advertisement

“รถพยาบาลเคลื่อนที่รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันจะช่วยอุดช่องโหว่ในเรื่องเวลา ซึ่งเดิมจะต้องใช้เวลามาก กว่าจะนำตัวผู้ป่วยส่งต่อมายังโรงพยาบาล เช่น ปัญหาการจราจรติดขัดทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาตัว ทำใหัการรักษาไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งการทำงานของรถจะเป็นการเคลื่อนที่เพื่อรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันเวลา เกิดการวินิจฉัยโรคและรักษาได้เร็วขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย โดยรถพยาบาลเคลื่อนที่ฯ ได้ติดตั้งอุปกรณ์และเทคโนโลยีทันสมัย ช่วยลดระยะเวลาและมีความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยโทรแจ้งมายังสายด่วน จากนั้นจะมีรถฉุกเฉินรับตัวผู้ป่วยและพบกันยังจุดนัดพบ เพื่อส่งตัวผู้ป่วยมายังรถพยาบาลเคลื่อนที่ โดยภายในจะมีการติดตั้งกล้อง ส่งสัญญาณภาพมายังโรงพยาบาล เพื่อให้ทีมผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมวินิจฉัยเพื่อเริ่มรักษาอาการตามขั้นตอน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

รศ.นพ.ยงชัย กล่าวว่า รถพยาบาลเคลื่อนที่ได้ให้บริการผู้ป่วยถึงปัจจุบัน จำนวน 125 ราย โดยทุกรายสามารถกลับมาใชชีวิตได้ตามปกติ โดยให้การรักษาผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบฉับพลัน คิดเป็นร้อยละ 55.2 ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน ร้อยละ 29.6 ผู้ป่วยเป็นโรคที่ไม่ใช่หลอดเลือดสมอง ร้อยละ 10.4 ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดชั่วคราว ร้อยละ 4.8 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่รับจากพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ร้อยละ 59.2 ผู้ป่วยรับจากเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี จากศูนย์เอราวัณ 1669 ร้อยละ 20 ผู้ป่วยรับจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญูและสายตรง 02 419 8888 ร้อยละ 20.8 ซึ่งคนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันและได้รับการฉีดยาสลายลิ่มเลือด ร้อยละ 50.7 คนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันและได้รับการฉีดยาสลายลิ่มเลือด ร่วมกับการใส่สายสวนหลอดเลือด ร้อยละ 11.6 และคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยการใส่สวนสวนหลอดเลือดอย่างเดียว ร้อยละ 2.9 โดยคนไข้ทุกคนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจะเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ทั้งนี้ ภายในรถพยาบาลเคลื่อนที่ ประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อผู้ป่วยมาถึงจะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมพยาบาลและนักรังสีเทคนิคทำการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย และทำการส่งผู้ป่วยเข้าสู่เครื่องสแกนสมอง ซึ่งจะทำให้รู้ผลทันทีว่าคนไข้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ หากเป็นชนิดเฉียบพลันและตีบ จะสามารถทำการรักษาผู้ป่วยได้ทันที

Advertisement

รศ.นพ.ยงชัย กล่าวว่า สำหรับรถพยาบาลเคลื่อนที่เปรียบเสมือนโรงพยาบาลเคลื่อนที่ไปทำการรักษาผู้ป่วย ช่วยเติมเต็มในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือขาดแคลนเครื่องมือในการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อน เช่น ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกแม่เจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันรถพยาบาลได้ทำการเคลื่อนที่ในพื้นที่ฝั่งธนบุรีทั้งหมด อ.บางใหญ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ตลอดจนพื้นที่ย่านพระราม 2 โดยสามารถนัดรับผู้ป่วยจุดนับพบได้ภายใน 30 นาที ขณะเดียวกัน ได้ยังเสนอไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อขอนำเทคโนโลยี 5จีมาใช้ รวมถึงให้มหาวิทยาลัยบูรพา หน่วยงานพันมิตรได้นำเทคโนโลยีเหล้านี้ไปใช้ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ (อีอีซี)

“เดิมได้ทำการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉลี่ย 5-10 รายต่อเดือน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นวันละ 20 รายต่อเดือน คาดจะมีแนวโน้มของโรคเพิ่มขึ้น ซึ่งอนาคตทางศิริราชยังจะพัฒนาให้ผู้ป่วยสามารถเรียกรถพยาบาลเคลื่อนที่ผ่านแอพพลิเคชันได้ด้วย” รศ.นพ.ยงชัย กล่าวและว่า ส่วนสิทธิการรักษาของผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิข้าราชการ (เบิกได้) สิทธิประกันสังคม และสิทธิจ่ายเอง นอกจากนี้ ศิริราชยังมีกองทุนสำรองเพื่อช่วยจ่ายค่ารักษาส่วนเกินอีกด้วย และยังอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลเพื่อให้ระบบการรักษาสุขภาพอื่นเข้ามามีส่วนร่วม

ทั้งนี้ เมื่อคนไข้มีอาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ต้องมาถึงโรงพยาบาลให้รวดเร็วที่สุด เนื่องจากระยะเวลาในการให้ยาสลายลิ่มเลือดนั้น จะต้องไม่เกิน 4 ชั่วโมง 30 นาทีนับตั้งแต่มีอาการ โดยหากมีอาการดังกล่าวให้รีบโทรแจ้ง 1669 ก่อนรถฉุกเฉินจะมายังจุดนัดพบที่ใกล้ที่สุด เมื่อผู้ป่วยมาถึงทีมแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคทันที ด้วยเครื่องสแกนสมองที่ทำให้เห็นภาพของหลอดเลือดอย่างเรียลไทม์ และทำการรักษา ก่อนนำตัวผู้ป่วยส่งต่อยังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและลดความเสี่ยงในการพิการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image