สธ.เล็งลดอัตราป่วยจากมลพิษ 10% ชี้สถานการณ์ทรงตัว ‘ฝุ่น-โอโซน-ก๊าซเบนซีน’ เกินมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562 “อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกส่วน” (Better Air Quality for Better Health) และพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “Princess Environment Health Award” ว่า กรมอนามัย ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อม และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย จัดประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562 เพื่อรณรงค์เนื่องในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ซึ่งกำหนดให้ทุกปีเป็นวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และเพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันลดมลพิษ เนื่องจากสถานการณ์มลพิษทางอากาศในประเทศไทยปี 2561 พบว่าสถานการณ์มลพิษทางอากาศในภาพรวมมีแนวโน้มทรงตัว แต่ยังพบสารพิษบางตัวเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (พีเอ็ม 10) ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) ก๊าซโอโซน และก๊าซเบนซีน โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น เขตอุตสาหกรรม และพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เขตควบคุมมลพิษหน้าพระลาน จ.สระบุรี เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง จ.ระยอง และพื้นที่วิกฤตหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ นอกจากนี้ สถานการณ์คุณภาพอากาศภายในอาคารจากการใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาด เช่น ฟืน ถ่านไม้ และน้ำมันก๊าด เพื่อปรุงอาหารและสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่าร้อยละ 17.9 ยังมีการใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาดปรุงประกอบอาหาร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ อาจปล่อยมลพิษที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้

พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพประเด็นที่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์มลพิษทางอากาศและสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนในแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560-2564 เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ โดยเป็นความร่วมมือ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ลดการปล่อยมลพิษแหล่งกำเนิดผ่านกลไกทางกฎหมายและความร่วมมือแบบสมัครใจ 2.การลดการรับสัมผัสพิษทางอากาศ การเฝ้าระวัง สื่อสาร แจ้งเตือน สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผ่านช่องทางต่างๆ และ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและการศึกษาวิจัย เพื่อลดอัตราเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศลดลงร้อยละ 10

พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจเรื่องอนามัยและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งภาพรวมสถานการณ์มลพิษทางสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไทยได้เผชิญ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อต้นปี 2562 ปัญหาหมอกควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ และภาคใต้ที่เริ่มเกิดปัญหาดังกล่าว โดยการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และให้ทุกคนมีส่วนร่วมทำกิจกรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนในการปกป้องตนเอง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา

Advertisement

“ส่วนผู้ที่ได้รับความเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศนั้น สธ.โดยกรมควบคุมโรค ได้มีการเฝ้าระวังในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไป
ได้มีการแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังด้วยตนเอง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ หากไม่มั่นใจตนเองต้องรีบพบแพทย์ ขณะเดียวกัน ทาง สธ.ได้เปิดคลินิกมลพิษ เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษเป็นพิเศษ นำร่องตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีแล้ว และจะกระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วไปต่อไป ทั้งนี้ คาดปีต่อไปสถานการณ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะลดลงและภาคเครือข่ายจะมีความเข็มแข็งมากขึ้น” พญ.พรรณพิมล กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “Princess Environment Health Award” ด้านบุคคลดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2562 ได้แก่ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จ.ยะลา และองค์กรดีเด่นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีขอนแก่น จ.ขอนแก่น และรางวัลการประกวดคลิปวิดีโอด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม 5 รางวัล ซึ่งคัดเลือกจากผลงานนักเรียนและนักศึกษากว่า 80 ผลงานทั่วประเทศ

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image