สธ.ยันการตรวจวินิจฉัย “เชื้อเอชไอวี” ไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐาน

ภายหลัง นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีหญิงรายหนึ่งร้องขอความเป็นธรรมหลังจากไปรับบริการทางการแพทย์ โดยตรวจหาเชื้อเอชไอวีผิดพลาด ที่โรงพยาบาล (รพ.) ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พร้อมทั้งให้ช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ.กล่าวว่า ประเทศไทยมีการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีทางห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่สำคัญ ผลการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีต้องมีความถูกต้องและแม่นยำ ทั้งนี้ สธ.ได้มีกระบวนการในการควบคุมคุณภาพ ที่กำหนดเป็นนโยบาย แนวทางและมาตรฐานการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ดังนี้ 1. คนไทยทุกคนที่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก สามารถตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี เพื่อรู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง 2.ผู้รับบริการต้องได้รับการให้บริการปรึกษาเกี่ยวกับเอชไอวีทั้งก่อนและหลังการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งการปฏิบัติตนหลังจากทราบผล ไม่ว่าผลจะเป็นลบหรือบวก เพื่อเป็นการป้องกันหรือเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา 3. ชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีที่จำหน่ายในประเทศไทย ต้องผ่านการประเมินและขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี พ.ศ.2552 ทั้งนี้ การเลือกใช้ชุดตรวจให้เป็นไปตามคำแนะนำในแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย ปี 2560

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า 4.วิธีการตรวจและการแปลผลที่เป็นมาตรฐานนั้น กรณีรายงานผลเป็นบวกจะตรวจด้วยชุดตรวจ 3 ชุด และมีการเจาะเลือดตัวอย่างที่ 2 เพื่อยืนยันตัวบุคคล สำหรับกรณีที่รายงานผลเป็นลบ จะตรวจด้วยชุดตรวจ 1 ชุด หากผลเป็น “สรุปไม่ได้” ต้องนัดตรวจใหม่ที่ 2 สัปดาห์ และ/หรือ 1 เดือน กรณีที่ผลเป็นสรุปไม่ได้ อาจเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้มารับบริการอาจเพิ่งสัมผัสเชื้อมา และร่างกายยังสร้างแอนติบอดี้ไม่ถึงระดับที่ชุดตรวจจะตรวจได้ หรืออาจเกิดจากร่างกายของผู้มารับบริการสร้างสารที่ทำปฏิกิริยากับชุดตรวจบางชุดตรวจที่ทำให้ไม่สามารถแปลผลการตรวจได้ 5.ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ให้บริการตรวจเอชไอวี มีการควบคุมคุณภาพภายใน ตรวจสอบคุณภาพของชุดตรวจเป็นประจำ ว่ามีคุณภาพก่อนที่จะนำไปใช้ในการตรวจกับตัวอย่างจริงของผู้มารับบริการ ส่วนการควบคุมคุณภาพภายนอก เป็นการตรวจสอบระบบการทำงานของห้องปฏิบัติการ ต้องเข้าร่วมการประเมินโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.หรือหน่วยงานอื่นๆ อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง

“ขอให้ประชาชนทุกคนหันมาป้องกันตนเอง รับผิดชอบตนเองและผู้อื่น โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และยังสามารถรับการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง ส่วนเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ารับการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้โดยไม่ต้องขอคำยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อจะได้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง หากรู้ว่าติดเชื้อจะได้เข้ารับการรักษาทันที ถ้าต้องการคำปรึกษาเรื่องสุขภาพทางเพศ มีข้อสงสัยหรือข้อกังวลเกี่ยวกับเอชไอวี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 สายด่วน สปสช. 1330 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image