แฉ “ฟิลลิป มอร์ริส” แฝงจัดประชุมในไทย หวังรุกผลิตภัณฑ์บุหรี่ใหม่

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่โรงแรมเอทัส นางเรณู การ์ก นักวิชาการองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา กรรมการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ร่วมแถลงข่าว “เปิดโกงกลยุทธ์ล่าสุดของบริษัทบุหรี่” พร้อมยืนยันไม่ร่วมสังฆกรรมกับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดบุหรี่

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิชาการ แพทย์ จากสถาบันต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของศูนย์จัดการความรู้เรื่องธรรมาภิบาลในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการ “Smoke-Free Dialogues” ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้งานดังกล่าวได้รับสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อโลกปลอดบุหรี่ (Smoke-Free World) อ้างว่าเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาและจัดทำดัชนีเสริมกลไกการควบคุมการบริโภคยาสูบที่มีอยู่ปัจจุบัน (Smoke-Free index) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก เมื่อสืบค้นข้อมูลพบว่า มูลนิธิดังกล่าวก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายน 2560 มีสำนักงานตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้รับทุนสนับสนุนปีละ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2,400 ล้านบาท จากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ต่อเนื่อง 12 ปี จึงตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการหาข้อมูลสนับสนุนแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงเป็นการจงใจท้าทายเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการกำหนดจัดประชุมแบบเดียวกันในตุรกี แต่รัฐบาลตุรกีได้สั่งยกเลิก ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอินเดีย ได้ออกหนังสือเวียนถึงผู้ว่าการทุกรัฐ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ไม่ให้มีการสังฆกรรมใดๆ กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดบุหรี่ ทั้งนี้ ล่าสุดได้รับแจ้งว่าผู้จัดได้แจ้งยกเลิกกิจกรรมนี้โดยไม่แจ้งสาเหตุแล้ว
ด้านนางเรณู กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกมีนโนบายชัดเจนไม่สังฆกรรมใดๆ กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดบุหรี่ หากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส มีความจริงใจต้องการผลักดันให้ทั่วโลกไร้ควัน ต้องสนับสนุนนโยบายตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบฯ เท่านั้น

Advertisement

นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบได้นำประเด็นดังกล่าวหารือต่อคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย เบื้องต้นมีประเด็นต้องพิจารณา 1.วัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้รับของการจัดงานขัดหรือแย้งต่อกฎหมายยาสูบแห่งประเทศไทยในการลดการบริโภคผลิตยาสูบทุกประเภท 2.คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ให้หน่วยงานราชการปฏิบัติตามแนวทางกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ มาตรา 5.3 ที่ห้ามไม่ให้หน่วยงานราชการเกี่ยวข้องกับบุหรี่เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ โดยอุตสาหกรรมยาสูบ ดังนั้น การมีหนังสือเชิญผู้แทนของรัฐ แพทย์และนักวิชาการและบุคลากรของรัฐ ขัดมติ ครม. และ 3.หากมีการสนับสนุน เช่น ค่าพาหนะเดินทาง ค่าใช้จ่าย ค่าที่พักแก่ผู้บรรยาย เข้าข่ายผิดมาตรา 35 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมยาสูบ พ.ศ.2560 โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม ทั้งนี้ค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันเดียวกัน นายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ทั้งฟิลลิป มอร์ริส ไทยแลนด์ และฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ (พีเอ็มไอ) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการของมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ และว่าแม้พีเอ็มไอสนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นให้กับมูลนิธิฯ แต่พีเอ็มไอและองค์กรอื่นๆ ในอุตสาหกรรมยาสูบไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานหรือการจัดกิจกรรมใดๆ ของมูลนิธิฯ ดังกล่าว

Advertisement

“วิสัยทัศน์ของบริษัทคือ การหยุดจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตเพื่อสร้างสังคมไร้ควันให้เร็วที่สุด ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยประมาณ 11 ล้านคน และผู้สูบบุหรี่จำนวนมากในกลุ่มนี้ยังคงตัดสินใจสูบบุหรี่ต่อไป ซึ่งบริษัทได้สื่อสารอย่างชัดเจนกับผู้สูบบุหรี่มาโดยตลอดว่า การเลิกบุหรี่และการไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินอย่างเด็ดขาดเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่สำหรับผู้สูบบุหรี่ที่ตัดสินใจสูบบุหรี่ต่อไปเหล่านั้น ควรได้รับข้อมูลที่มีพื้นฐานมาจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับทางเลือกที่ดีกว่าการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง” นายพงศธร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image