มก.แถลงความสำเร็จ ‘โบท็อกซ์’ กล้ามเนื้อขากรรไกรช้าง จนอ้าปากกินอาหารได้ รายแรกของโลก

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่อาคารคลินิกสุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผศ.นสพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน แถลงความสำเร็จของการใช้โบท็อกซ์ในการรักษาช้างที่มีอาการกล้ามเนื้อขากรรไกรแข็งเกร็งอ้าปากไม่ได้ เป็นรายแรกของโลก โดย รศ.นสพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ 
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ สพญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ 
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นสพ.ทวีโภค อังควานิช 
สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ สพญ.วรางคณา ลังกาพินธุ์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ผศ.นสพ.ดร.วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ พญ.พรเอื้อ บุญยไพศาลเจริญ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นทีมรักษาช้างพังรุ่งนภา ช้างเลี้ยงเพศเมีย วัย 50 ปี ที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการไม่กินอาหาร เนื่องจากภาวการณ์แข็งเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร มาเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว และได้รับการรักษาการถ่ายพลาสมา ให้อาหารผ่านทางเส้นเลือด ปั่นผ่านทางสายยาง ฉีดแสงเลเซอร์ เพื่อลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ และฝังเข็มเพื่อ กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท จนในเดือนที่ 4 พังรุ่งนภา สามารถอ้าปากกินอาหารได้เล็กน้อย ดั้งนั้น ทีมแพทย์จึงได้พิจารณาฉีดโบท็อกซ์เข้าที่กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร เพื่อให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ หลังจากฉีดโบท็อกซ์ เพียง 2 สัปดาห์ พังรุ่งนภาสามารถอ้าปากกว้างขึ้น เคี้ยวหญ้าและผลไม้ได้เกือบปกติ

ดร.จงรักกล่าวว่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. เป็นสถาบันการศึกษาทางสัตวแพทยศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทย ทำหน้าที่ผลิตสัตวแพทย์ที่มีความรู้ ความสามารถ ออกไปปฏิบัติงานในฐานะพลเมืองไทย และพลเมืองโลก การจัดการเรียนการสอนของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. งานวิจัยและการให้บริการทางวิชาการสัตวแพทย์ทำให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. สามารถผลิตบุคลากรทางสัตวแพทย์ที่รู้จริง มีทักษะ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ จนได้รับการกล่าวถึงว่า “สัตวแพทย์เกษตร สัตวแพทย์ของประชาชน”

“หน่วยสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มก. กำแพงแสน เป็นหน่วยงานภายใต้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. ที่ทำหน้าที่ดูแลและรักษาช้างและสัตว์ป่า รวมถึงทำการศึกษา วิจัย เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าทั้งในถิ่นที่อยู่อาศัยและนอกถิ่นที่อยู่อาศัย ความสำเร็จจากการช่วยเหลือพังรุ่งนภาในการใช้โบท็อกซ์ในการรักษาช้างที่มีอาการกล้ามเนื้อขากรรไกรแข็งเกร็งอ้าปากไม่ได้เป็นรายแรกของโลกในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน ขอแสดงความขอบคุณโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย สมาคมสหพันธ์ช้างไทย สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ควาญช้างที่คอยดูแลช้างเป็นอย่างดีระหว่างที่เจ็บป่วย และเจ้าของช้างที่อนุญาตให้ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาอย่างเต็มที่ โดยใช้ศาสตร์และองค์ความรู้ใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในการรักษา จนทำให้พังรุ่งนภาสามารถกลับมาอ้าปาก และกินอาหารได้” ดร.จงรักกล่าว

Advertisement

รศ.นสพ.ดร.นิกรกล่าวว่า “พังรุ่งนภา” เป็นช้างเพศเมีย อายุประมาณ 50 ปี มาจากปางช้างเอกชนแห่งหนึ่ง ได้เข้ารับการรักษาที่อาคารคลินิกสุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มก. กำแพงแสน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561 ด้วยอาการไม่กินอาหารมาเป็นเวลากว่า 1 อาทิตย์ เนื่องจากช้างไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น และจากการวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการวางยาซึม พบว่า มีการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อขากรรไกรมากกว่าปกติจนช้างอ้าปากไม่ได้ และพบการงอกผิดรูปของฟันจนทำให้เกิดแผลในช่องปาก ทางทีมสัตวแพทย์จึงทำการส่งตัวพังรุ่งนภาไปยังโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง เพื่อทำการรักษาเพิ่มเติม เนื่องจากมีช้างอยู่จำนวนมาก สามารถถ่ายเลือดเพื่อรักษาชีวิตได้ในกรณีที่จำเป็

รศ.นสพ.ดร.นิกรกล่าวว่า พังรุ่งนภาผ่านการวางยาสลบแบบนอนทั้งสิ้น 2 ครั้ง และวางยาซึมแบบยืนอีกทั้งสิ้น 4 ครั้ง เพื่อทำการตรวจและวินิจฉัยภายในช่องปาก การรักษาพังรุ่งนภาประกอบด้วย การทำพลาสมา (ให้ส่วนประกอบของเลือด) 2 ครั้ง การให้สารน้ำและยาบำรุงผ่านทางเส้นเลือดตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ช้างไม่สามารถอ้าปากได้ การให้อาหารปั่นทางสายยาง (ผลไม้, หญ้า อาหารข้น และอื่นๆ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน การลดปวดลดอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณกรามด้วยการใช้แสงเลเซอร์ การกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทกล้ามเนื้อขากรรไกรด้วยการใช้การฝังเข็ม และการให้ยาฆ่าเชื้อ ยาลดอักเสบ และยาบำรุงระบบประสาทต่างๆ แต่ก็เพียงช่วยให้พังรุ่งนภาสามารถอ้าปากได้เล็กน้อย

Advertisement

“เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 4 เมื่ออ้าปากได้เล็กน้อย ทางทีมสัตวแพทย์ได้ทำการปรับสูตรอาหารให้พังรุ่งนภา โดยให้กินหญ้าสับละเอียดแทนน้ำปั่น ซึ่งแม้ว่าพังรุ่งนภาจะสามารถกินหญ้าสับได้บ้าง แต่ต่อมากลับพบว่าพังรุ่งนภามีภาวะกล้ามเนื้อฝ่อบริเวณแก้ม (ตรงกลาง) และพบการเกิดพังผืดบริเวณแก้ม (รอบนอก) และแนวกราม และเริ่มเกิดการตกค้างของอาหารในกระพุ้งแก้ม ดังนั้น เพื่อลดความตึงและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร ทีมสัตวแพทย์จึงตัดสินใจทำการฉีดโบท็อกซ์เข้าบริเวณกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าส่วนแก้มทั้งข้างซ้ายและขวา เพื่อให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อนั้นๆ โดยเมื่อผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ พังรุ่งนภาสามารถอ้าปากได้กว้างขึ้น และสามารถหยิบกินหญ้าท่อนยาวเคี้ยวและกลืนได้ดีเมื่อผ่านไป 2 อาทิตย์ เมื่อพังรุ่งนภาเริ่มกินอาหารได้ดีจึงส่งตัวกลับมาพักฟื้นอยู่ที่อาคารคลินิกสุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ถึงปัจจุบัน พังรุ่งนภาสามารถกินอาหารเองได้ดีแล้ว ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องมีการตรวจและเฝ้าระวังอาการอย่างเป็นประจำต่อเนื่องต่อไป

“สังคมช้างประเทศ มีช้างแก่ หรือช้างอายุมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมักจะพบปัญหาช้างแก่เหล่านี้เจ็บป่วย จากอาการโรคต่างๆ ขณะที่อาการกล้ามเนื้อขากรรไกรช้างแข็งเกร็งจนอ้าปากไม่ได้ ของพังนุ่งนภาเป็นเคสแรกของเรา และเป็นเคสแรกโลก คณะสัตวแพทย์ที่ช่วยกันรักษาพังรุ่งนภานี้ได้บันทึกรวบรวมรายงานทุกขั้นตอน เพื่อเป็นเคสศึกษา เพื่อนำไปใช้รักษาช้างเชือกอื่น”

ด้าน พญ.พรเอื้อกล่าวว่า ทีมสัตวแพทย์ได้มาปรึกษาเกี่ยวกับการใช้โบท็อกซ์ในช้าง จึงวางแผนและตัดสินใจทำการฉีดโบท็อกซ์เข้าบริเวณกล้ามเนื้อ บริเวณใบหน้าส่วนแก้มทั้งซ้ายและขวา เพื่อให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อนั้น หลังฉีดโบท็อกซ์ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ พังรุ่งนภาสามารถอ้าปากได้กว้างขึ้น และสามารถหยิบกินหญ้าท่อนยาวเคี้ยวและกลืนได้ดี และเมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ พังรุ่งนภาเริ่มกินอาหารได้ดีขึ้น ควบคู่กับการสังเกตอาการข้างเคียง ซึ่งไม่พบผลกระทบข้างเคียงกับอวัยวะอื่น

ด้านนายนิรันดร์ นพตลุง อายุ 29 ปี ชาวตำบลโคกม้า อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ควาญช้างที่ดูแลพังรุ่งนภา กล่าวว่า พังรุ่งนภาป่วยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 อ้าปากไม่ได้ กินไม่ได้ น่าสงสาร เมื่อนำมารักษาก็ลำบากมาก ต่องย้ายไป จ.ลำปาง หมอต้องระดมกันไปช่วยรักษา กระทั่งวันแรกที่ตนเห็นพังรุ่งนภาอ้าปากได้ กินอาหารได้คำแรก น้ำตาไหล ดีใจมาก กระทั่งวันนี้พังรุ่งนภากินอาหารได้ปกติ เรียกว่าหายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หมอบอกว่าวันจันทร์หน้านี้กลับบ้านได้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image