ถอดรหัส ป่าแก่งกระจาน ‘วืดžมรดกโลกž’

คณะผู้แทนไทย นำโดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีส นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เดินทางกลับมาจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ที่เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ทั้งหมดพกความผิดหวังกลับมาอีกครั้ง ที่ยังไม่สามารถทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติได้

ถือเป็นความผิดหวังครั้งที่ 3 แล้วที่ ไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จได้

แม้ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นเรื่องดี ที่คณะกรรมการมรดกโลกไม่ถึงกับตีตกไปเลยเสียทีเดียว ที่ประชุมยังเปิดโอกาสให้ประเทศไทยส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ปัญหา ที่ถูกตั้งคำถามจากประเทศสมาชิกในคณะกรรมการมรดกโลกทั้งหมด ถือว่ายังมีความหวัง ว่าการประชุมมรดกโลกครั้งต่อไป ที่ประชุมจะหยิบยกเอา กลุ่มป่าแก่งกระจานŽ มาพิจารณาอีกครั้ง

Advertisement

ปี 2556 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 35 ที่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีมติเห็นชอบให้บรรจุพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ในชื่อ Kaeng Krachan Forest Complex (KKFC) ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ตามที่ประเทศไทยเสนอ

และปีเดียวกัน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ร่วมกันประชุมแก้ไขเอกสารแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เพื่อส่งให้ทางศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส ตรวจสอบและขึ้นทะเบียนในปี 2558 ที่กรุงบอร์น ประเทศเยอรมนี

ในตอนนั้นที่ประชุมก็มีคำถามเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งเรื่องการเผากระท่อมชาวกะเหรี่ยงบางกลอย และการที่นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ หายไปอย่างไร้ร่องรอย

Advertisement

และมีการตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯหรือไม่?

ซึ่งในที่สุดแล้ว กลุ่มป่าแก่งกระจานก็ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอยู่ดี

ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการ มรดกโลกครั้งที่ 43 ที่เมืองบากู สาธารณรัฐ อาเซอร์ไบจาน กลุ่มป่าแก่งกระจานก็พบอุปสรรคเพิ่มขึ้นมาอีกประการ คือ เรื่องของแนวเขตพื้นที่ ซึ่งถูกประเทศเมียนมาท้วงติงว่าแนวเขตป่าที่ไทยมัดรวมเพื่อเสนอเป็นพื้นที่มรดกโลกนั้น จะประชิดกับเส้นขอบเขตประเทศมากเกินไปหรือไม่

หากเอาตามที่ไทยเสนอ ในอนาคตอาจจะมีปัญหาขึ้นมาก็ได้ เรื่องนี้กรมอุทยานฯได้พยายามแก้ปัญหา โดยเข้าไปพูดคุยกับทางรัฐบาลเมียนมา จนในที่สุด ประเทศไทยได้ถอยร่นแนวพื้นที่ออกมาให้ห่างจากเส้นขอบเขตประเทศ

ปัญหาก็คือ ก่อนที่ตัวแทนของประเทศไทยจะเดินทางไปประชุมที่เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ยังไม่ได้สรุปเรื่องนี้ชัดเจน แต่จากการเจรจาพูดคุยกับตัวแทนของประเทศเมียนมา ก็สามารถตกลงทำความเข้าใจกันได้

พูดง่ายๆ ก็คือ ไปทำความเข้าใจและตกลงกันได้หน้างาน ซึ่งไม่เป็นทางการในแง่การรับรู้ของกลุ่มประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เป็นคณะกรรมการ ซึ่งจะพิจารณาว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานควรจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่ ซึ่งคณะผู้แทนไทยก็ไม่มีความย่อท้อที่จะเดินหน้า ชี้แจงเรื่องที่ได้ความเข้าใจและตกลงกับประเทศเมียนมาได้แล้วในเรื่องแนวเขตพื้นที่

วิบากกรรมของกลุ่มป่าแก่งกระจานที่จะไม่ได้รับการตีทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีนี้ยังไม่หมด เมื่อสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่ประเมินผลให้คณะกรรมการมรดกโลกทั้ง 21 ประเทศพิจารณา แจ้งว่า ได้รับข้อมูลจากสํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย สหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ส่ง มาที่ศูนย์มรดกโลก ว่าภายในอุทยาน แห่งชาติแก่งกระจานยังมีปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ ซึ่งข้อสงสัยทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นที่ประเทศไทยเคยตอบมาแล้วในที่ประชุมครั้งก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการท้วงติงเช่นนี้ขึ้นมา ทางประธานในที่ประชุมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา 6 ประเทศ เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย นอร์เวย์ อินโดนีเซีย คิวบา ตูนิเซีย และคูเวต ทั้ง 6 ประเทศใช้เวลา 2 วันในการหาข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศออสเตรเลียนั้นไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงที่จะให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยระบุว่ารัฐบาลไทยยังไม่เคลียร์เรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่

ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่ประเทศที่เป็นคณะกรรมการมรดกโลก เป็นแค่ภาคีสมาชิก จึงไม่มีสิทธิและโอกาสจะชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้น หากประเทศที่เป็นกรรมการไม่เรียกให้พูด แม้เรียกให้พูดแล้วก็จะพูดได้แค่ 2 นาที เท่านั้น ซึ่งประเทศอินโดนีเซีย ที่เป็นกรรมการมรดกโลกก็ได้เปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้ชี้แจง ซึ่งนายสีหศักดิ์ก็ได้ใช้เวลา 2 นาที ได้คุ้มค่าที่สุด

หากแต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้คณะกรรมการทั้ง 21 ประเทศเห็นชอบให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกได้ แต่ไม่ถึงกับตีตกไปเสียทีเดียว เพราะยังเปิดโอกาสประเทศไทยส่งเอกสารข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้ใหม่ ที่มณฑลฟูเจี้ยน ประเทศจีน

เอกสารที่ทางคณะกรรมการมรดกโลกระบุให้ประเทศไทยดำเนินการอะไรบ้างในเรื่องขอบเขตพื้นที่ และเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศไทยก็ดำเนินการไปแล้ว และระยะเวลา 1 ปี ก็มากพอที่จะให้เราจัดการกับเอกสารต่างๆ น่าจะเพียงพอที่จะไม่ทำให้คนไทยต้องผิดหวังเป็นครั้งที่ 4

ถือเป็นบทเรียนที่ต้องรอลุ้นกันใหม่รอบหน้า!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image