องค์การเภสัชฯ จับมือ มข.วิจัยพัฒนา ‘สารสกัดกัญชา’ คาดอีก 4 เดือน ส่งมอบผลิตยา

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. เป็นประธานลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ รศ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการเเทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาในรูปแบบต่างๆ ในรูปแบบยาเตรียมที่ทันสมัย ใช้งานง่าย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และเหมาะสมกับโรคต่างๆ มากขึ้น โดย อภ.จะสนับสนุนสารสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อให้ มข. นำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่จะเป็นในส่วนของสารสกัดน้ำมันกัญชาในล็อตที่ 2 ที่จะส่งมอบได้ในอีก 4 เดือนข้างหน้า

รศ.ชาญชัย กล่าวว่า 5 คณะของ มข. ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ เเละคณะสัตวเเพทยศาสตร์ ได้ร่วมมือกันเพื่อวิจัยเเละพัฒนาการใช้กัญชาอย่างเป็นระบบ ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมพื้นที่ 10 ไร่ เพื่อปลูกเเละศึกษาสายพันธุ์กัญชา ทั้งพันธุ์ไทยเเละต่างประเทศซึ่งได้รับการอนุญาตจาก อย.เเล้ว โดยจะทดลองปลูกพร้อมกันทั้ง 4 ระบบ เเละนำสารสกัดที่ได้มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆในเบื้องต้น จะนำมาผลิตภัณฑ์ยา 10 รูปแบบ อาทิ ยาเหน็บทวารหนัก แผ่นแปะซึมผ่านผิวหนังเเละเเผ่นฟิล์มเกาะติดเนื้อเยื่อในช่องปากเเละในอนาคตจะร่วมมือกับ อภ.เพื่อพัฒนารูปแบบยาที่ทันสมัยมากขึ้น เเละให้ประชาชนเข้าถึงในราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ยังมีเเผนที่จะนำผลิตภัณฑ์กัญชามาทดสอบการรักษาในผู้ป่วยระยะสุดท้ายของศูนย์การุณรักษ์ คณะแพทยศาสตร์ มข.ด้วย นอกจากนี้ ยังจะนำกากเหลือใช้จากช่อดอกกัญชาแห้งของต้นกัญชา ให้คณะสัตวแพทย์ มข. นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ต่อไปด้วย

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.วิฑูรย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชาเมดิคัลเกรดของ อภ. ล่าสุดผลิตน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้นเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ขวด จากเป้าเดิม 2,500 ขวด ซึ่งที่เพิ่มขึ้นจะเป็นส่วนของสูตรสารทีเอชซีสูง และจะเริ่มทยอยกระจายผ่านกรมการเเพทย์ไปสู่โรงพยาบาลที่ได้รับอนุญาตนำผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ การใช้สารสกัดน้ำมันกัญชารักษาโรคจะไม่ใช้เป็นทางเลือกเเรก แต่จะใช้ต่อเมื่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล ส่วนแผนที่จะดำเนินต่อไปหลังจากเก็บเกี่ยวดอกกัญชา 140 ต้น ซึ่งเป็นล็อตเเรกหมดเเล้ว อภ.จะทำความสะอาดพื้นที่เพื่อปลูกในล็อตที่ 2 ต่อไปทันที คาดว่าจะได้สารสกัดกัญชาล็อตที่ 2 ประมาณปลายปีนี้ ส่วนการดำเนินการในระยะที่ 2 จะเป็นระดับกึ่งอุตสาหกรรม จะขยายพื้นที่ปลูกเป็นแบบอินดอร์ (Indoor) และกรีนเฮาส์ (Green house) พร้อมปรับปรุงสายพันธุ์ทั้งไทยเเละลูกผสม ให้ได้สารสำคัญที่เหมาะสมเเละสามารถปลูกในสภาพอากาศของไทยได้ ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 150,000-200,000 ขวด คาดว่าจะดำเนินการปลูกได้ต้นปี 2563

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image