เฝ้าระวัง’พะยูน’ ช่วยกัน’ปกป้อง’ ก่อนจะเหลือเพียงภาพ

เพียงช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ทะเลฝั่งอันดามันของกระบี่และตรังพบซากพะยูนรวม 4 ตัวด้วยกัน และรวมกับอีกตัวที่พบซากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็น 5 ตัวด้วยกัน นับเป็นข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และยังพบว่า ในพะยูนที่ตายและยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดนั้น ซากพะยูนที่พบที่อ่าวสิเกา เมื่อ 5 ก.ค.62 และที่เกาะลันตา จ.กระบี่ เมื่อ 12 ก.ค.62 ถูกตัดเขี้ยวไปด้วย

ยิ่งไม่มั่นใจว่า สาเหตุการตายเกิดการล่าพะยูนเหมือนอดีตหรือไม่ เพราะในอดีตเคยมีการล่าเพื่อตัดเขี้ยวไปทำเป็นเครื่องประดับหัวแหวนและใช้เป็นเครื่องลางของขลัง

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 26 เม.ย.62 ได้พบพะยูนรอดชีวิต เกยตื้นบริเวณชายหาดบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ และได้รับการอนุบาลภายในอ่าวดุหยง เกาะลิบง ต.กันตัง จ.ตรัง และตั้งชื่อพะยูนน้อยตัวนี้ว่า “มาเรียม”

Advertisement

ต่อมาวันที่ 1 ก.ค.62 พบลูกพะยูนอีกตัว อายุ 3 เดือน เกยตื้นบริเวณชายหาดบ่อม่วง ต.ทรายขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ในสภาพอ่อนแรง ตามลำตัวเต็มไปด้วยรอยแผล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ราชกัญญา พระราชทานชื่อให้แก่ลูกพะยูนเกยตื้นตัวนี้ว่า “ยามีล” เป็นภาษายาวี แปลว่า ชายรูปงามแห่งท้องทะเล และทรงรับลูกพะยูนมาเรียมและพะยูนยามีล ไว้ในโครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระราชดำริฯ” “ยามีล” ถูกเลี้ยงในบ่ออนุบาล กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งอยู่บ้านแหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต

นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวถึงมาตรการการเฝ้าระวังดูแลสัตว์น้ำที่หายากในทะเลว่า ปกติมีการติดตามลาดตระเวนเฝ้าดูพะยูนทุกวัน โดยมีหน่วยตั้งอยู่บริเวณแหลมจุโหย เกาะลิบง จัดกำลัง 10 นาย ทางหน่วยยังได้เรือตรวจการณ์เพิ่มอีก 2 ลำ รวมเป็น 3 ลำ เตรียมการอยู่บริเวณหน้าท่าเทียบเรือชวน หลีกภัย พร้อมทั้งเรือสมาร์ทปลาทู เรือตรวจการณ์เชิงคุณภาพ 1 ลำ ลาดตระเวนเดือนละ 10 วัน วิ่งรอบเกาะช่วงเวลา 18.00-21.00 น. โดยเฉพาะในพื้นที่ล่อแหลม เช่น หาดทุ่งจีน เป็นบริเวณที่พะยูนอาศัยจำนวนมาก และหาดพระม่วง มีการตรวจเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูนว่าเป็นอวนประเภทอะไร เช่น อวน 3 ชั้น อวนปลากระเบน จะเก็บยึดทันที

นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับเครือข่ายพี่น้องประมงเกาะลิบง เช่น กลุ่มอนุรักษ์ดุหยง กำนันผู้ใหญ่บ้าน มีการจัดกำลังเฝ้าระวังด้วยกัน ถ้าเจอพะยูนบาดเจ็บหรือตายจะแจ้งมาทันที ยังมีกติกาชุมชนร่วมกับพี่น้องชาวบ้าน ประมงพื้นบ้าน กำหนดเงื่อนไขของการใช้ประโยชน์ว่าเครื่องประมงชนิดไหนบ้างใช้ได้ ชนิดไหนที่รุนแรงที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน เต่าทะเล โลมา จะมีการห้ามนำเครื่องผิดกฎหมายเข้ามา เป็นแนวทางป้องกันอีกด้านหนึ่ง

Advertisement

หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กล่าวด้วยว่า ปัญหาและอุปสรรคโดยเฉพาะพื้นที่รับผิดชอบของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงมีพื้นที่กว้างขวาง ยากต่อการดูแลเฝ้าระวังพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่รับผิดชอบมีพื้นที่กว่า 275,000 ไร่ แยกเป็น ในทะเลกว่า 130,000 ไร่ บนบกประมาณ 120,000 ไร่ ในพื้นที่มีหน่วยพิทักษ์ป่าฯ 4 หน่วย ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่โดยเฉพาะ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง โดยไม่มีหน่วยพิทักษ์ป่าฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต้องขอหน่วยพิทักษ์ป่าฯอีก 1 หน่วย เพื่อจะได้ประชุมประชาสัมพันธ์การบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องสัตว์ทะเลหายาก ด้วยเหตุผลที่ว่า อ.หาดสำราญ เป็นพื้นที่ล่อแหลมของการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก เช่น อวนปลากระเบน เบ็ดราไวย์ อวน 3 ชั้นที่ยังมีใช้อยู่ เป็นเรื่องที่ทำให้พะยูนบาดเจ็บและตายได้ ที่อาจเกิดตามมา

“ในส่วนของความร่วมมือกับทางจังหวัดในการดูแลพะยูน เรื่องนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดตรังให้ความสำคัญกับพะยูนและหญ้าทะเลเป็นอย่างมาก วางมาตรการขับเคลื่อนแจ้งประชาสัมพันธ์ไปยังทางอำเภอจัดให้มีการประชุมชี้แจง และควบคุมกำหนดการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก ล่าสุดมีการประชุมกันที่ อ.หาดสำราญ ส่วนการลาดตระเวนขับเคลื่อนโดยจังหวัดมอบหมายให้ทางชุมชน ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นจัดหน่วยลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ฯ ซึ่งการประสานความร่วมมือกันก็น่าจะได้ผลดี”

หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ยังกล่าวถึงประเด็นการตายของพะยูน และการลักตัดเขี้ยวในเขตห้ามล่า 2 ตัว มีการผ่าพิสูจน์พบว่าในลำไส้ติดเชื้อมีหนอง เป็นลูกพะยูนทั้ง 2 ตัว และตัวที่ตายล่าสุดอยู่ในระหว่างผ่าพิสูจน์ซาก เป็นลูกพะยูนอายุ 6-7 เดือน บริเวณลำตัวไม่พบการฉีกขาดของอวัยวะ อาจจะตายมาจากสาเหตุการจมน้ำตายหรือติดเครื่องประมง ก็ต้องพิสูจน์จากสัตวแพทย์ต่อไป

สำหรับความเชื่อที่มีการตัดเขี้ยวพะยูน เป็นความเชื่อของคนในอดีตและเกิดความงมงาย เป็นความเชื่อส่วนตัวส่วนบุคคล ปัจจุบันต้องยอมรับว่ายังคงมีอยู่ ในอนาคตจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและบังคับการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ใครมีเขี้ยวพะยูนจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด

สำหรับ พะยูน เป็นสัตว์น้ำชนิดแรกของประเทศไทยที่ถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

ด้านข้อมูลของวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ระบุไว้ว่า “มีความเชื่อว่า ทั้งเนื้อ, กระดูก และเขี้ยวพะยูน มีคุณสมบัติทางเมตตามหานิยม เขี้ยวพะยูนมีชื่อเรียกเฉพาะในแวดวงการค้าในตลาดมืดว่า ‘งาช้างน้ำ’ ทั้งเขี้ยวและกระดูกพะยูนมีราคาแพง โดยมักนำไปทำเป็นหัวแหวน เหมือนกับหนามปลากระเบน แล้วยังเชื่อว่าน้ำตาพะยูนและเขี้ยวพะยูนมีอำนาจในทางทำให้เพศตรงข้ามลุ่มหลงคล้ายน้ำมันพราย ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดๆ และไม่ควรทำตามอย่างยิ่ง เพราะไม่สามารถเป็นจริงได้”

ความเชื่อผิดๆ เช่นนี้ได้ทำลายชีวิตพะยูนมาแล้วมากต่อมาก

วันนี้ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันดูแลและอนุรักษ์ไว้ หากไม่ร่วมกันในการดูแลสัตว์น้ำหายาก โดยเฉพาะพะยูน สักวันหนึ่งอาจจะเหลือแค่คำบอกเล่า

หรือดูได้จากภาพเพียงอย่างเดียว

ชัยพฤกษ์ วีระวงศ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image