‘สุวิทย์’ เผยอันดับนวัตกรรมไทย ลำดับ 43 โลก

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ทรูดิจิทัลพาร์ค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานสตาร์ตอัพ ไทยแลนด์ 2019 “Startup Thailand 2019” ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้แนวคิด STARTUP NATION ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) อว. จัดขึ้น

นายสุวิทย์ กล่าวแสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Southeast Asia: Tech Hub of the World” ว่า การส่งเสริมสตาร์ตอัพ หรือวิสาหกิจเริ่มต้นนั้น เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างประเทศไปสู่การเป็น “ชาติสตาร์ตอัพ” ที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต คนไทยได้งานทำอันคุ้มค่า ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนไทยให้หลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศรายได้สูงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับสตาร์ตอัพในฐานะนักรบทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง ภายในปี 2580 ตามวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งการพัฒนาสตาร์ตอัพนั้นจะต้องดำเนินการให้เป็นไปทั้งระบบ ดังนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบในการจัดตั้ง หน่วยบริการเบ็ดเสร็จ หรือ One-Stop Service: OSS สำหรับสตาร์ตอัพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของสตาร์ตอัพทั้งในและต่างประเทศ” นายสุวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้ นายสุวิทย์ กล่าวว่า รัฐบาลได้อนุมัติให้เร่งจัดตั้งกองทุนพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ กองทุนสตาร์ตอัพ เพื่อสนับสนุนด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบการต้องการเริ่มต้นธุรกิจ ตั้งแต่ช่วงพัฒนาแนวคิด จนกระทั่งสามารถพัฒนาเป็นสินค้าและบริการที่จำหน่ายได้ มั่นใจมากว่าสตาร์ตอัพเชื้อสายไทยจะต้องเป็นนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจ ที่จะช่วยนำประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและผู้ประกอบการได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะปีนี้ ที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน บทบาทหนึ่งที่สำคัญคือ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องสตาร์ตอัพ เชื่อว่า อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีของโลก หรือ Tech Hub of the World ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแน่นอน

Advertisement

 

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ล่าสุด องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกได้ประกาศผลการจัดทำดัชนีนวัตกรรมระดับโลก (Global Innovation Index – GII) ประจำปี 2562 ที่เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย ปรากฎว่าไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมอยู่อันดับที่ 43 ขยับขึ้นจากปี 2561 มา 1 อันดับ โดยไทยมีการปรับตัวดีขึ้นทั้งทางด้านปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม จากอันดับที่ 52 เลื่อนเป็นอันดับที่ 47 และปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรมปรับขึ้นจากอันดับที่ 45 เป็นอันดับที่ 43 และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน ไทยอยู่ในอันดับ 4 จาก 34 ประเทศ

“ไทยมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปัจจัย ยกเว้นปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ไทยอยู่ในอันดับ 10 จาก 15 ประเทศ” รัฐมนตรีว่าการ อว.กล่าวและว่า สำหรับคะแนนปีนี้ ไทยทำได้ดีในหลายตัวชี้วัดจาก 5 ปัจจัยหลัก อาทิ ด้านเครดิตภายในประเทศที่มีต่อภาคเอกชน อันดับ 12 การคุ้มครองผู้ลงทุน อันดับ 14 การลงทุนในตลาด อันดับ 10 การทำ R&D ที่มีแหล่งเงินจากภาคธุรกิจ อันดับ 4 การนำเข้าสินค้าไฮเทค อันดับ 12 สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจ อันดับ 20 การเติบโตด้านผลิตภาพแรงงาน อันดับ 14 และการส่งออกสินค้าเทคโนโลยี อันดับ 8 รวมถึงตัวชี้วัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยผลลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี และปัจจัยด้านผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่ตัวชี้วัดที่ไทยยังมีข้อด้อยส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม อาทิ สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระเบียบและข้อบังคับต่างๆ อันดับ 105 อัตราส่วนของครูและนักเรียน อันดับ 97 การกู้ยืมรายย่อยในระดับไมโครไฟแนนซ์ อันดับ 80 เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image