อย.ร่วมตำรวจ บก.ปคบ.-บก.ปอท.ทลายเครือข่าย ‘คอลเซ็นเตอร์’ ขายยา

วันที่ 25 กรกฎาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก 4.บก.ปคบ.) นำทีมโดย พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผบก.ปคบ. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นำโดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผบก.ปอท. และ นายชาตรี พินโย นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายผู้บริโภค

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค และเครือข่ายจำนวนมาก พบโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพผ่านเว็บไซต์ https://www.honestdocs.co/ และยังพบความเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ https://www.facebook.com/HonestDocs/ และLine@HonestDocs ซึ่งในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 อย.ร่วมกับ บก.ปคบ จับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดในข้อหาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นได้ทำการขยายผลจนทราบว่า บริษัท บิมินิ จำกัด เลขที่ตั้ง 1126/2 อาคารวานิช 2 ห้องเลขที่ 2802 ชั้นที่ 28 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีชื่อคณะกรรมการ 2 คน เป็นคนไทย 1 คน และเป็นชาวต่างชาติ 1 คน ประเภทธุรกิจจดทะเบียนการจัดทำซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (ยกเว้นซอฟต์แวร์เกมสำเร็จรูป) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการสืบสวน ได้ระบุช่องทางการซื้อสินค้าทาง Line@HonestDocs ซึ่งผู้ดูแลแจ้งช่องทางชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารของคณะกรรมการบริษัทดังกล่าว เมื่อชำระเงินแล้ว จะส่งยาทางไปรษณีย์ให้ลูกค้า

“วันนี้ อย.และ บก.ปคบ จึงได้เข้าตรวจสอบบริษัท บิมินิ จำกัด พบเป็นเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ เป็นสถานที่ให้คำปรึกษา โฆษณาขายยา อาหาร เครื่องสำอาง พร้อมเปิดช่องทางการจำหน่าย โดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) กลุ่มยาโรคจิตเวช กลุ่มยาความดัน กลุ่มยาโรคเบาหวาน กลุ่มยาคุมกำเนิด กลุ่มยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งหมดเป็นการขายยาผ่านช่องทางเว็บไซต์ https://www.honestdocs.co/ https://www.facebook.com/HonestDocs/ และ Line@HonestDocs จากการตรวจสอบที่ตั้งโดเมน พบว่าอยู่ที่รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ อย.จะประสานแจ้งไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำการปิดเว็บไซต์ทุกช่องทาง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเข้าถึงเว็บไซต์นั้นได้อีก เพราะเข้าข่ายฝ่าฝืนทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558” นพ.ธเรศ กล่าว

Advertisement

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การซื้อยาออนไลน์มีอันตรายอย่างยิ่ง และอ ย.ไม่อนุญาตให้ขาย ทั้งนี้ ยาบางกลุ่ม เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะ หากซื้อกินเองอาจได้กลุ่มยาไม่ตรงกับเชื้อที่ได้รับ และหากกินยาไม่ต่อเนื่องอาจดื้อยาได้ และผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาปฏิชีวนะอาจมีความเสี่ยง เช่นกลุ่มเพนิซิลลิน (เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน ไดคล็อกซาซิลลิน) ที่อาการแพ้ยาอาจมีตั้งแต่ลมพิษ ผื่นคัน ใจสั่น แน่นหน้าอก ไปจนถึงหอบตัวเขียว ความดันต่ำ เป็นลม หรือเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นอันตรายถึงตายได้

“นอกจากนี้ กลุ่มยาโรคจิตเวช กลุ่มยาโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน การใช้ยาต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ส่วนกรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณลดอ้วน เสริมสมรรถภาพทางเพศ ที่ผ่านมา มักตรวจพบสารอันตราย หรือมีการผสมยาแผนปัจจุบัน เช่น ไซบูทรามีน ออริสแตท บิซาโคดิล เฟนฟลูรามีน ฯลฯ ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่อันตรายอาจถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้ อย.เตรียมขยายผล หากพบร้านขายยาที่มีส่วนเกี่ยวข้อง” ภญ.สุภัทรา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image