กรมอุทยาน แจงข่าวภาพทารุณช้าง ชี้เป็นภารกิจหลักที่ต้องดูแลช้างป่า แต่พร้อมร่วมมือตรวจสอบกิจการปางช้าง

กรมอุทยาน แจงข่าวภาพทารุณช้าง ชี้เป็นภารกิจหลักที่ต้องดูแลช้างป่า แต่พร้อมร่วมมือตรวจสอบกิจการปางช้าง

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงกรณีที่มีประเด็นข่าวระบุ พบการทารุณกรรมช้างในประเทศไทย จากกรณีที่ “นิวซีแลนด์ เฮรัลด์” สื่อยักษ์ใหญ่ของนิวซีแลนด์ เผยแพร่ภาพถ่ายของช้างที่แหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของไทย ซึ่งถูกควาญช้างใช้ขอแหลมสับที่หัวจนเป็นบาดแผลเหวอะหลายจุดและมีเลือดไหลออกมาจากแผล สร้างความสะเทือนใจแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นภาพเหล่านี้ ถูกถ่ายเอาไว้โดยนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ใช้ชื่อว่า อาบัง ดา บาลิค ซึ่งนักท่องเที่ยวรายนี้ ได้นำภาพถ่ายไปแชร์ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ก่อนจะมีผู้คนในโลกออนไลน์เข้าไปแสดงความคิดเห็นและแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ในหลายประเทศ ถึงขั้นที่มีการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติช่วยกันคว่ำบาตรแหล่งท่องเที่ยวในไทยที่มีการแสดงช้าง รวมถึงการให้บริการขี่ช้างเพื่อยุติการสนับสนุน “ธุรกิจบาป” ที่มีการทรมานสัตว์อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ มีการเปิดเผยข้อมูลว่าขณะนี้มีช้างมากกว่า 3,000 ตัว ที่ถูกนำมาบังคับใช้งานเพื่อความบันเทิงและการท่องเที่ยวเช่นนี้ โดยที่กว่า 77 % ของช้างถูกทำทารุณและถูกเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม

นายธัญญา กล่าวว่า “ช้างบ้าน” หรือ “ช้างเลี้ยง” เป็นช้างที่ได้จดทะเบียนตั๋วรูปพรรณตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ ถือเป็นสัตว์พาหนะและอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยถูกกำหนดให้มีสถานภาพเดียวกันกับ วัว ควาย ม้า ลา และล่อ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหน้าที่ในการกำกับดูแลในส่วนของช้างที่เป็นสัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ทั้งนี้จากข้อมูลการเก็บตัวอย่างเลือดของช้างซึ่งเป็นสัตว์พาหนะหรือช้างบ้านตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 60/2559 ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559 มีช้างบ้าน จำนวน 3,783 เชือก ซึ่งกระจายอยู่ตามปางช้างต่างๆ ทั่วประเทศ หน่วยงานราชการบางส่วน และบางส่วนจัดแสดงภายในสวนสัตว์สาธารณะซึ่งการประกอบกิจการปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานราชการใดบังคับหรือควบคุมเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด แต่เนื่องจากกิจกรรมปางช้างส่วนใหญ่ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กรมการท่องเที่ยวได้เล็งเห็นความสำคัญเพื่อให้ปางช้างได้ปฏิบัติต่อช้างและนักท่องเที่ยวให้เป็นระบบ จึงได้กำหนด “มาตรฐานการจัดกิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว” โดยกำหนดให้ปางช้างที่สมัครใจเข้ามาร่วมดำเนินการอย่างมีมาตรฐาน

Advertisement

นอกจากนี้ในปัจจุบันกรมปศุสัตว์ ได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัด สวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์มีอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงมาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกประกาศเพื่อปฏิบัติการต่างๆ ประกอบกับมาตรา 3 กำหนดนิยาม คำว่า “สัตว์” หมายความว่า สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยง เพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” เพื่อมิให้สัตว์ถูกทารุณกรรม และให้ผู้เป็นเจ้าของต้องจัดสวัสดิภาพให้แก่สัตว์นั้นๆมิฉะนั้นจะได้รับโทษทางอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท

“จากการตรวจสอบข้อมูลตามที่เป็นข่าวเป็นการกล่าวถึงภาพรวม มิได้กล่าวถึงว่าสถานที่แสดงช้างในลักษณะการทรมานเป็นปางช้างในท้องที่ใด ทั้งนี้ เมื่อปรากฎตามภาพข่าวที่เกิดขึ้น กรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ดำเนินการด้านต่างๆกับช้างป่าอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าช้างบ้านมิได้อยู่ในการกำกับดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 แต่มีช้างบ้านบางส่วนดำเนินกิจกรรมภายในสวนสัตว์สาธารณะ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะดำเนินการเฝ้าระวังตรวจตรามิให้มีกิจกรรมที่เข้าข่ายการทรมานหรือกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสัตว์ที่อาจเกิดอันตรายต่อทั้งสัตว์และคน รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ ให้มีสภาพที่เหมาะสม”อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ กล่าว

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ท้องที่ พิจารณาสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบควบคุมการดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะของผู้รับอนุญาตให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ และเงื่อนไขในการอนุญาตเป็นประจำอย่างน้อย ๓ เดือนต่อครั้ง โดยนับตามปีงบประมาณ ยกเว้น กรณีมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนของสัตว์ป่า ดังนี้ 1. ตรวจสอบชนิดและจำนวนสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง และสัตว์ป่าตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ พร้อมหลักฐานการได้มา 2.ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสัตว์ป่าดังกล่าวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง 3. เร่งรัดผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ จัดทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า

Advertisement

4. ดำเนินการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ยกเว้น การออกใบอนุญาตให้จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ 5. หากพบการกระทำผิดกฎหมายให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image