‘ผู้สูงอายุชาติพันธุ์-ชายขอบ’ อายุขัยสั้นกว่า ‘ผู้สูงอายุในเมือง’ อุปสรรคภาษา-การเข้าถึงบริการสาธารณสุข

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยกลุ่มผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวน 11.61 ล้านคน หรือร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเครือข่าย ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ พร้อมตั้งเป้าให้คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดในอีก 20 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 85 ปี และต้องอยู่อย่างมีสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 75 ปี ทว่าผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์ และชายขอบ กลับยังไม่เป็นไปตามเป้า ด้วยเหตุผลในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนความรู้ด้านสุขภาวะอนามัย

ในการลงพื้นที่สัมมนาสื่อมวลชน ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม ของกรมอนามัย นำทัพสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงาน “การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ” ของโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาล ต.ล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง

Advertisement

นพ.สุรพันธ์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดเผยข้อมูลได้อย่างน่าสนใจ ถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์ และชายขอบ ว่า ในพื้นที่ชายขอบ เนื่องจากมีความซับซ้อนในเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ มีความหลากหลายชนเผ่า อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่มีความห่างไกลจากบริการสาธารณสุข สถานพยาบาล ทำให้การเข้าถึงบริการพยาบาลนั้นทำได้ยาก ต่างจากสังคมเมือง โดยในพื้นที่ชายขอบมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น และส่วนใหญ่จะมีอายุขัยอยู่ที่ 60 ปี ขณะที่ผู้สูงอายุในเมืองจะมีอายุขัยเฉลี่ย 85 ปี และปัจจุบันมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20

นพ.สุรพันธ์ กล่าวว่า สาเหตุผู้สูงอายุในพื้นที่ชายขอบมีอายุขัยเฉลี่ยน้อยกว่าผู้สูงอายุในเมือง เนื่องจากส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคติดต่อ เช่น โรคปอด โรควัณโรค โรคถุงลมโป่งพอง เพราะเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยาก ส่วนผู้สูงอายุในเมืองส่วนใหญ่จะเสียชีวิตด้วยโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) และเมื่อเข้าถึงวัยสูงอายุจะยิ่งเข้าถึงการรักษาทำได้ยากขึ้นอีก เพราะบ้านแต่ละหลังมีระยะห่างกัน บุตรหลานเข้าสู่เมืองเพื่อทำงาน หรือไปทำงานนอกพื้นที่ ดังนั้นในหมู่บ้านห่างไกล จึงมีจำนวนผู้สูงอายุอาศัยอยู่เพียงลำพังค่อนข้างมาก และพบว่าส่วนใหญ่เป็นภาวะซึมเศร้า มีอาการเหงา

Advertisement

นพ.สุรพันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.) พยายามเข้าไปดูแลกลุ่มผู้สูงอายุชายขอบ ขณะเดียวกันยังจัดตั้งศูนย์สาธารณสุขชุมชน เพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุได้รับการบริการพยาบาลอย่างทั่วถึง แม้ผู้สูงอายุไม่มากเหมือนผู้สูงอายุในเมืองก็ตาม โดยการทำงานทาง ศอช.จะจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล แต่เรื่องภาษาก็ยังคงเป็นอุปสรรคในการให้บริการ ปัจจุบันจึงมีอาสาสมัครของกลุ่มชนเผ่าที่เข้าไปดูแลด้วย โดยอาสาสมัครจะสามารถสื่อสารภาษาชนเผ่าได้ ทำให้อย่างน้อยการพูดภาษาเดียวกันก็จะช่วยถ่ายทอดความได้รู้เรื่อง จะช่วยทำให้รับบริการสุขภาพได้เป็นอย่างดี รวมถึงเข้าถึงในสิ่งที่กลุ่มผู้สูงอายุต้องการ

“ภาษาและการเดินทาง จึงเป็นอุปสรรคสำคัญ ต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของกลุ่มพี่น้อง กลุ่มชาติพันธุ์และพื้นที่ชายขอบ แต่ปัจจุบันได้มีหลายโครงการเข้ามาช่วยเหลือ เช่น กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) โครงการหมู่บ้านยามชายแดน ตามพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นโครงการของกองทัพบก (ทบ.) เริ่มจากการจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่บนภูเขา ก่อนนำระบบสาธารณูปโภคเข้าไป จัดสร้างแหล่งน้ำ พื้นที่การเกษตร เพื่อให้คนในชุมชนดูแลกันเองได้ มีพื้นที่ทำกิน ส่วนครอบครัวสามารถดูแลกันเอง ตั้งแต่เด็กตลอดจนผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุจะดีขึ้น เพราะบุตรหลานไม่ต้องออกไปทำงานในเมือง ไม่ทิ้งผู้สูงอายุให้อยู่คนเดียว” นพ.สุรพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ นพ.สุรพันธุ์ ยังกล่าวถึงเรื่องอาหารการกินของผู้สูงอายุในพื้นที่ชายขอบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ และชายขอบ ไม่ได้ประสบปัญหาเรื่องแหล่งอาหารดังกล่าว แต่กลับมีปัจจัยเสริมอื่นจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การขาดการออกกำลังกาย การดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ โดยเฉพาะชาวเขาที่มวนบุหรี่เอง ไม่มีก้นกรอง หรือยาเส้น การเคี้ยวเมี่ยง เป็นปัจจัยทำลายสุขภาพ หากเลี่ยงปัจจัยนี้จะช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น แต่เรื่องนี้ทำได้ยากเพราะสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นวิถีและประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ การสังสรรค์ และการคลายเครียด
ทั้งนี้ ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.) ตั้งอยู่ในอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง มีภารกิจสำคัญในการสร้างสุขภาวะด้านอนามัย การเจริญพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ ที่จะได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ ตลอดจนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image