กรมควบคุมโรคเตือนหน้าฝน ระวัง! ‘มือ เท้า ปาก’ โดยเฉพาะเด็กเล็ก 1-3 ปี

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. มีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยเด็ก ที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลเป็นพิเศษ จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังสถานการณ์การเจ็บป่วยเป็นกลุ่มก้อนในเด็ก ซึ่งในช่วงนี้เป็นฤดูฝน อากาศที่เย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่มักพบบ่อยในช่วงนี้ สำหรับสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – วันที่ 13 สิงหาคม 2562 พบผู้ป่วย 37,921 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ช่วงอายุที่พบมากที่สุด ได้แก่ อายุน้อยกว่า 1 ปี คิดเป็นร้อยละ 25.48 รองลงมา อายุ 1 – 2 ปี คิดเป็นร้อยละ 24.30 และอายุ 2 – 3 ปี คิดเป็นร้อยละ 18.37 ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก เชียงใหม่ ระยอง น่าน กรุงเทพมหานคร และเพชรบุรี ตามลำดับ

“โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ และสามารถติดต่อจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน หากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1 – 2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงอาจถึงขั้น เสียชีวิตได้” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ทั้งนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคแนะนำ 4 วิธีในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก 1.การลดการสัมผัสเชื้อ โดยเชื้อโรคมือ เท้า ปากจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่น ของใช้จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้ 2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม 3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลัง กินอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น และ 4.หากพบผู้ป่วย ควรให้หยุดเรียนและรักษาจนกว่าจะหาย ควรแยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการแพร่กระจายของเชื้อโรค

“สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน ควรมีการคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน เพื่อตรวจดูนักเรียนที่มีอาการแสดงของโรค คือมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับและพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ จัดจุดล้างมือ  หรือ เจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ ส่วนผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบมีอาการข้างต้นควรให้หยุดเรียนและพักรักษาจนกว่าจะหาย ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที สอบถามเพิ่มเติม โทร 1422” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image