สสส.หนุน ‘ชุมชนจักรยาน’ สร้างสุขภาวะสังคมไทย

วันที่ 15 สิงหาคม นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เปิดเผยว่า สถาบันฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปีที่ 3 โดยปีนี้ ได้จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลพร้อมถอดบทเรียนประสบการณ์ และนำเสนอแนวทางการขยายผลเพื่อยกระดับการทำงาน หลังจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนขั้นต้นสิ้นสุดลง โดยจัดเป็นเวทีระดับภาคสำหรับโครงการย่อยในทั่วทุกภูมิภาค มีผู้เข้าร่วมจาก 60 โครงการย่อย และทีมงานวิทยากรกระบวนการ จากมูลนิธิ ร่วมสรุปผลค้นหาบทเรียนการขับเคลื่อนงาน ผ่าน 7 นวัตกรรม 7 รูปแบบส่งเสริมจักรยานในชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับชุมชนต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาชุมชนสู่เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้การเดินและการปั่นจักรยานเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญได้อย่างทั่วถึง

“หลังจากสำนัก 6 สสส. สนับสนุนงบประมาณให้มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ผลักดันการใช้จักรยานในชุมชน นับจากปี 2557-2562 มีการเข้าร่วมทั้งหมด 200 กว่าชุมชนทั่วประเทศ เฉพาะในปี 2562 ได้ดำเนินการ 60 โครงการ ใน 31 จังหวัด และยังมีภารกิจที่ต้องทำต่อเนื่องต่อไป แต่อาจมีปรับปรุงเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ต่อไป” นายจำรูญกล่าว และว่า สำหรับโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะนั้น ได้มีข้อตกลงกับ สสส.ว่า พยายามจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานให้มากขึ้น

“จากที่ไปทำงาน 2-3 ปี พบว่า จักรยานสามารถส่งเสริมกิจกรรมในชุมชนได้ ประมาณ 7 เรื่อง อาทิ เรื่องเด็กและเยาวชน ให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการใช้จักรยานมากขึ้น, เรื่องผู้สูงอายุ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ, กลไกการทำงานด้านสาธารณสุข, มาตรการแรงจูงใจในการใช้จักรยาน, การบูรณาการท้องถิ่น, สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวในชุมชน โดยใช้จุดแข็งแต่ละพื้นที่เป็นตัวขยายงาน” นายจำรูญกล่าว และว่า บางพื้นที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เข้มแข็ง เขาใช้จักรยานเพื่อเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ขณะที่บางพื้นที่มีพื้นที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ก็มีการส่งเสริมการใช้จักรยานในการท่องเที่ยว ซึ่งมูลนิธิ มั่นใจว่าชุมชนที่ลงพื้นที่ทำกิจกรรมจะเป็นอีกตัวอย่างของการสร้างความเข้มเข็งในอนาคต

Advertisement

นายจำรูญ กล่าวว่า จากการที่มูลนิธิไปทำจักรยานเพื่อสุขภาวะในชุมชน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การเปลี่ยนในชุมชน มีการทำงานร่วมกันเป็นทีม เกิดผู้นำที่เข้มแข็ง สนใจอยากผลกดันงานจริงจัง เกิดการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของเมืองหรือพื้นที่ มีการทำป้าย ทาสี ตีเส้น มีจุดจอดจักรยาน สุดท้ายคือ มีจำนวนผู้ใช้จักรยานมากขึ้น มีความปลอดภัย เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เกิดขึ้น และในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ จะมีการจัดงาน “มหกรรมชุมชนจักรยาน” ปี 3 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ซอยงามดูพลี กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเวทีสรุปผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุกพื้นที่ด้วย

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image