สปสช.รับ 9 ข้อเสนอผู้มีส่วนได้เสีย ยกระดับ ‘บัตรทอง’

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2562 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2562 ได้ข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ใน 9 ประเด็นสำคัญ โดยข้อเสนอเหล่านี้ได้มีการส่งมอบให้กับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณา ซึ่งมี นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นตัวแทนรับมอบข้อเสนอ

สำหรับสาระสำคัญของข้อเสนอ คือ 1.เพิ่มบริการทันตกรรมในสิทธิประโยชน์ เช่น รักษารากฟันแท้ ครอบฟัน 2.กำหนดหลักเกณฑ์/มาตรฐานการเยี่ยมบ้าน หรือการให้บริการที่บ้านให้ชัดเจน 3.เพิ่มกองทุนทันตกรรม หรือระบุงบประมาณที่ใช้สำหรับการส่งเสริมป้องกันโรคด้านทันตกรรมให้ชัดเจน และให้เอกชนเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงให้ประชาชน รวมถึงเพิ่มการจ่ายชดเชยค่าทำเส้นสำหรับฟอกเลือดชั่วคราวในผู้ป่วยโรคไต CAPD ที่รอทำเส้น

4.ให้มีการลงทะเบียนสิทธิสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อความรวดเร็วในการใช้บริการของผู้ป่วย และเชื่อมโยงฐานข้อมูลของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกที่ 5.ให้ สปสช.ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยกเลิกหนังสือสั่งการเรื่องการกำหนดอัตราค่าตอบแทน Care Giver จาก 600 กับ 1,500 บาท โดยให้ สปสช.เป็นผู้กำหนดอัตราค่าตอบแทนเป็นมาตรฐานเดียว 6.ให้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทุกอำเภอ โดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณ หรือจัดเวทีร่วมกับสภาองค์กรชุมชน ประชาคมหมู่บ้าน เพื่อแก้ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ 7.ให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ให้สามารถสนับสนุนการสื่อสารประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพได้

8.จัดตั้งกองทุนฯ สำหรับผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ซึ่งรวมถึงพระสงฆ์ ผู้นำศาสนาอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุข โดยให้รวมพระต่างชาติ/พระนักศึกษาต่างชาติ 9.ให้การจ่ายยาปรุงเฉพาะราย เสมือนกรมบัญชีกลางที่กำหนดเป็นค่ายาแผนไทยให้เบิกได้เฉพาะค่ายาที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค ยาแผนไทยประเภทที่ 4 “รายการยาที่ปรุงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย” ให้เป็นไปตามการสั่งใช้ยาของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยประยุกต์ รวมถึงสนับสนุนการให้บริการหัตถการการแพทย์แผนไทยตามความจำเป็นด้านสุขภาพ เช่น หัตถการพอเพื่อลดอาการปวดและอาการอักเสบ

Advertisement

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปีนี้ สปสช.ได้เพิ่มกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เป็นกลุ่มเฉพาะเข้ามาในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นด้วย เช่น เครือข่ายพยาบาล เครือข่ายคนพิการ พระสงฆ์ เครือข่ายศูนย์เพื่อนหญิงเพื่อสุขภาพ ฯลฯ ขณะเดียวกันได้ปรับวิธีรับฟังและเพิ่มช่องทางการรวบรวมข้อมูล เสริมข้อมูลวิชาการ พัฒนาระบบออนไลน์ และให้ความสำคัญกับประเด็นเฉพาะเพิ่มขึ้น

“สิ่งที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นนี้ จะนำเอามาพัฒนาต่อ เพื่อปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image