ปีนี้ พะยูน ตายแล้ว 17 ตัว ชง 17 ส.ค. “วันพะยูนแห่งชาติ” รำลึกมาเรียม

ปีนี้ พะยูน ตายแล้ว 17 ตัว ชง 17 ส.ค. “วันพะยูนแห่งชาติ” รำลึกมาเรียม

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้คณะกรรมการทะเลแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ใจความว่า เป็นประธานคณะ มีผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์หายากและเกี่ยวข้องโดย มี นายปิ่นสักดิ์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) สัตวแพทย์หญิง(สพ.ญ.) นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายก้องเกียรติ ผู้แทนกรมอุทยาน กรมประมง กองทัพเรือ กระทรวงท่องเที่ยว คณะประมง ม.เกษตร ฯลฯ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนประชาชนเข้ามาร่วม คณะทำงานตั้งตามพ.ร.บ.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผลการประชุมจะนำเสนอต่อคณะกรรมการทะเลแห่งชาติ

ผศ.ธรณ์ ระบุอีกว่า เวลานี้ พะยูนในไทยมี 250 ตัว อยู่แถวตรังกระบี่ 200 ตัว ที่เหลือกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ปกติตาย10-12 ตัวต่อปี สาเหตุหลัก 90% คือเครื่องมือประมง ในปีนี้เกยตื้น 16 ตัวตาย 15 ตัว เหลือน้องยามีล 1 ตัว แผนพะยูนแห่งชาติ สรุปคือ 3 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก ช่วยพะยูนให้ได้ เป้าหมายคือต้องมีพะยูนเพิ่มขึ้น 50% ภายใน 10 ปี ปัจจุบันมี 250 ตัว เป้าของก็คือ 375 ตัว ท้าทายมาก เพราะ ยังไม่เคยมี พะยูนถึงตรงนั้นเลยสักครั้ง ประเด็นที่สอง พะยูนโมเดล “พะยูนอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ดี ทะเลมีความสุข”

“ประเด็นสุดท้าย มาเรียมโปรเจ็ค น้องมาเรียมเป็นที่รักของทุกคน ประเด็นนี้จึงไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ โดยเน้นหนักที่การต่อต้านขยะทะเล เราเสนอให้ วันที่ 17 สิงหาคม เป็น “วันพะยูนแห่งชาติ” เพื่อระลึกถึงมาเรียมและรณรงค์เรื่องขยะทะเลและสัตว์หายาก เราขอให้มีการจัดตั้ง “กองทุนมาเรียม” เพื่อขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและทุกคน ในการเข้ามาร่วมปกป้องพะยูนและสัตว์หายาก ต่อต้านขยะทะเลร่วมกัน เราจะผลักดันให้เกิดการประชุมพะยูนโลก ความร่วมมือกับนานาชาติ ทั้งในเรื่องสัตว์หายากและขยะทะเล ฯลฯ”ผศ.ธรณ์ ระบุ

Advertisement

ด้านนายปิ่นสักก์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีพะยูนตายลงแล้ว 15-17 ตัว ซึ่งขณะนี้ มีพะยูนในธรรมชาติ 200 ตัว บวกลบ 50 ซึ่ง10 % ก็คือ 20 ตัว มีข้อมูลว่าพะยูนจะเกิดลูกประมาณ 7 % ต่อปี หากพะยูน 200 ตัวจะมีพะยูนเกิดลูก 14 ตัว ดังนั้นหากไม่ให้ยอดประชากรพะยูนลดลง พะยูนต้องไม่ตายเกิน 14 ตัว/ปี ซึ่งขณะนี้มียอดตายเกินไปแล้ว 1- 2 ตัว จึงทำให้ยอดรวมของพะยูนลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงภัยคุกคาม อย่างพะยูนที่เกยตื้นที่จ.กระบี่ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มประชากรเดียวกันระหว่างพื้นที่จ.กระบี่และจ.ตรัง ที่ผ่านมาพะยูนจะมีประชากรกระจายอยู่เท่าๆกันระหว่าง 2 จังหวัดนี้ แต่ช่วงหลังที่ จ.ตรังมีการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ดีขึ้น รักษาแหล่งหญ้าทะเล ชุมชนหาแนวมาตรการร่วมกันเพื่อลดภัยคุกคามพะยูนให้น้อยลง เช่น เครื่องมือประมง ประชากรพะยูนจากกระบี่จึงย้ายมาอยู่ที่จ.ตรัง มากขึ้น

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า พะยูน 15-17 ตัวที่ตาย พบว่าสาเหตุหลักเกิดจากเครื่องมือประมง เมื่อก่อนพบว่ามีการล่าพะยูนเพื่อเอาเขี้ยว แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะการตายร้อยละ 80 เกิดจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ จำพวกเบ็ดกระเบนอวน เป็นต้น ส่วนร้อยละ 20 อาจมีอาการป่วย กินขยะทะเลไปบ้าง ซึ่งตรงนี้เราจะต้องแก้ปัญหาให้ได้ ส่วนสถิติการพบซากพะยูนมากขึ้น อาจเป็นเพราะ 2 ประเด็น 1.เรื่องทิศทางลม หากมีพะยูนตายแต่ลมพัดออกนอกฝั่ง เราก็จะไม่รู้ แต่ในช่วงนี้ลมจะพัดเข้ามาทำให้เราเจอซากพะยูนมากขึ้น 2.การแก้ปัญหาประมง ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น มีการทำประมงชายฝั่ง และมีเครื่องมือประมงพื้นบ้านบางประเภทเพิ่มขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่พะยูนที่หากินตามชายฝั่งไปติดเครื่องมือเหล่านี้

“สำหรับแผนพะยูนแห่งชาติ ต้องการเพิ่มประชากรพะยูน 50 % ภายใน 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากเราใช้ลิบงเป็นโมเดล ซึ่ง 7 – 8 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่เกาะลิบงมีพะยูนเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จาก 125 ตัว เพิ่มเป็น 185 ตัว หากเราทำสำเร็จจะแปลว่าเราสามารถเพิ่มประชากรพะยูนได้จริง ซึ่งตัวแปรที่ทำให้การเพิ่มประชากรพะยูนสำเร็จ คือ 1.คนที่เกาะลิบงรักพะยูน 2.แหล่งหญ้าทะเลสมบูรณ์ 3.มีการกำหนดมาตรการการใช้เครื่องมือประมงและการใช้ประโยชน์ทางทะเลที่เหมาะสม ฉะนั้นลิบงโมเดลจะถูกนำไปใช้ใน 6 พื้นที่แหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญของไทย เพื่อให้พะยูนกลับมายังพื้นที่เหล่านี้ และเพิ่มประชากรขึ้นได้” นายปิ่นสักก์ กล่าว

Advertisement

รองอธิบดี ทช. กล่าวว่า สำหรับขยะพลาสติก ทส.ได้ร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วน มีโรดแมปจัดการขยะพลาสติก โดยเฉพาะขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะขยะทะเลร้อยละ 80 มาจากบนบก ซึ่งตามโรดแม๊พได้กำหนดให้พลาสติก 7 ชนิด โดยตั้งเป้าปี 2562 เลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด คือ แคปซีล อ็อกโซ่ และไมโครบีด และกำหนดให้ปี 2565 เลิกใช้พลาสติกอีก 4 ชนิด คือ ถุงหูหิ้ว กล่องโฟม แก้ว และหลอด แต่เนื่องจากเราพบว่าสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายากกินพลาสติกเข้าไป ทางรัฐมนตรีทส.จึงได้สั่งการให้มาทบทวนว่า โรดแม๊พขยะพลาสติกดังกล่าวจะสามารถดำเนินการให้รวดเร็วกว่านี้ได้หรือไม่ หรือมีมาตรการอะไรที่กระชับขึ้นอีก ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ช่วยอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายากได้อีกทางหนึ่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image