นักวิชาการแฉ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ใช้โซเชียลมีเดียทำตลาด-เข้าถึงเยาวชน ชงรัฐจี้ ‘เฟซบุ๊ก-ไลน์’ คุมเข้ม

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ผศ.ศรีรัช ลาภใหญ่ ลอยสมุทร วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการประชุมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลับมหิดล ซึ่งเป็นคณะทำงานที่กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งเพื่อศึกษาทบทวนมาตรการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ว่า จากการศึกษาสถานการณ์การแพร่กระจายผลิตภัณฑ์ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ในช่องทางการสื่อสารออนไลน์: ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการควบคุมยาสูบในประเทศไทย โดยศึกษาติดตามการใช้สื่อออนไลน์ในช่วงเดือนธันวาคม 2561- เดือนพฤษภาคม 2562 พบผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าใช้สื่อออนไลน์และสื่อโซเชียล มีเดีย ทุกประเภทแพร่กระจายผลิตภัณฑ์ มากที่สุดคือ เฟซบุ๊ก 94 ราย คิดเป็นร้อยละ 26 รองลงมา ไลน์ 86 ไอดี ร้อยละ 24 เว็บไซต์ 83 เว็บ ร้อยละ 23 อินสตาแกรม 62 ราย ร้อยละ17 และทวิตเตอร์ 32 ราย ร้อยละ10 รวมทุกสื่อ 357 ราย

“ผลกระทบคือ สร้างความเชื่อแบบผิดๆ โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34 เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เสพติด ร้อยละ 32.2 เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ก่อมะเร็งปอด และร้อยละ 39 เชื่อว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าคือการสูบควันไอน้ำเท่านั้น  ดังนั้นเพื่อการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับผู้ให้บริการช่องทางสื่อออนไลน์ 2 ช่องทางที่สำคัญ คือ เฟซบุ๊ก ไทยแลนด์ และไลน์ ไทยแลนด์ ห้ามโฆษณา ทำการตลาดเพื่อจำหน่ายบุหรี่ทุกประเภท” ผศ.ศรีรัช กล่าว

ด้าน ภญ.อรลักษณ์ พัฒนาประทีป สาขาวิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ กล่าวว่า การประมาณค่าความสูญเสียที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข โดยการสร้างโมเดลเพื่อหาความสูญเสียจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่ถูกชักนำด้วยการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในขณะที่เป็นเยาวชน คำนวณในมุมสังคม ต้นทุนทางตรงทางการแพทย์ ต้นทุนทางตรงที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ และต้นทุนทางอ้อม พบว่า ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าเสียโอกาสในการเกิดโรคต่อปีเท่ากับ 534,571,710 บาท ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์และสุขภาพของเยาวชนและประชาชนไทยที่ต้องแบกรับภาระจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติม

ผศ.สุนิดา ปรีชาวงษ์ กลุ่มการวิจัยเพื่อการควบคุมยาสูบ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ในสหรัฐอเมริกามีรายงานว่าการใช้บุหรี่บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มนักเรียนมัธยมเพิ่มขึ้นร้อยละ 74 โดยเพิ่มจากร้อยละ 11.7 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 20.8 ในปี 2561

Advertisement

“การใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นสาเหตุของการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด, เกิดภาวะที่อนุมูลอิสระเข้าไปทำลายระบบต่างๆ ภายในเซลล์ของร่างกาย, หัวใจเต้นเร็วขึ้น, ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการเสพติด ในปี 2560 มีรายงานการสังเคราะห์ความรู้จากงานวิจัยที่เป็นการศึกษาติดตามในระยะยาวเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 9 เรื่อง ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างที่เป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 16,621 คน อายุระหว่าง 14-30 ปี พบว่า ผู้ที่เคยใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสที่จะเริ่มสูบบุหรี่ ร้อยละ 30.4 ในขณะที่ผู้ไม่เคยใช้แนวโน้มที่จะเริ่มสูบเท่ากับ ร้อยละ 7.9 นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่เคยใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสที่จะเริ่มต้นสูบบุหรี่ชนิดอื่นๆ มากกว่าผู้ที่ไม่เคยลองใช้เกือบ 4 เท่า” ผศ.สุนิดา กล่าวและว่า ส่วนกลุ่มผู้สูบบุหรี่ พบว่า หากใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ในช่วง 1 เดือน มีโอกาสกลับไปสูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ถึง 4 เท่า ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาเพิ่มเติมทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย โดยมีผลการศึกษาที่สอดคล้องกัน คือ วัยรุ่นซึ่งยังไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนและลองใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่จะเริ่มสูบบุหรี่ในภายหลัง

 

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image