แฉเล่ห์ธุรกิจ “บุหรี่ไฟฟ้า-เบียร์ไร้แอลกอฮอล์” ปูทางนักดื่ม-นักสูบหน้าใหม่

วันที่ 21 สิงหาคม ที่โรงแรมแมนดาริน มีการเสวนา “จากบุหรี่ไฟฟ้าถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทางเลือกเพื่อสุขภาพหรือการตลาดอาบยาพิษ” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม

นายวศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินก่อให้เกิดการเสพติดเหมือนบุหรี่ ซึ่งมีผลวิจัยจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2493 พบว่า นิโคตินมีคุณสมบัติก่อให้เกิดการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา ซึ่งอุตสาหกรรมยาสูบทราบดี แต่ปิดบังความจริงนี้ไว้ ขณะที่ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าบางยี่ห้อ มีสารนิโคตินสูงเทียบเท่าบุหรี่แบบปกติ 20 มวน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้นิโคตินเร็วขึ้น 2.7เท่า เมื่อเทียบกับบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้ออื่นๆ เพื่อให้เกิดการเสพติดได้ง่ายขึ้น จึงไม่แปลกใจที่กลุ่มธุรกิจนี้พยายามผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้

นายวศิน กล่าวว่า ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย มีผลการศึกษาที่สอดคล้องว่า วัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนและลองใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะริเริ่มสูบบุหรี่แบบปกติในเวลาต่อมา และพัฒนาไปสู่การเสพติดยาเสพติดประเภทอื่น โดยสหรัฐอเมริกา พบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มนักเรียนมัธยมเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านคน ในปี 2560 เป็น 3.6 ล้านคน และในปี 2561 ส่วนอิสราเอล ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง เพราะมีระดับสารนิโคตินเกินมาตรฐาน ขณะที่ไต้หวัน สิงคโปร์ อินเดีย ฮ่องกง มีปัญหาเรื่องการเพิ่มขึ้นของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน โดยเกาหลีใต้มีงานวิจัยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับภาวะซึมเศร้าและพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น พบว่า กลุ่มวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะพยายามฆ่าตัวตาย มากกว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ธรรมดากว่า 6 เท่า

Advertisement

“ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดในอนาคตคือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของแบตเตอรี่บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ไต้หวันได้ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ส่วนประเทศไทยมีมาตรการที่ดีที่สุดคือ ห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งล่าสุดนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้แสดงจุดยืนชัดเจน ไม่ให้มีการนำเข้า จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า” นายวศิน กล่าว

ด้าน นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ศวส.สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ 4,000 คน จากทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม พบว่า ร้อยละ 69 ที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือน ยังคงดื่มเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ตามปกติเท่าเดิม ส่วนคนที่ดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์มาดื่มแทนเบียร์ปกติ มีเพียงร้อยละ 4 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือประมาณ 3 ใน 4 เมื่อเห็นแพคเกจเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทำให้นึกถึงเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ยี่ห้อของบริษัทเดียวกัน

“จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องควบคุมเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เพราะเป็นกลยุทธ์การตลาดที่หาช่องโหว่ทางกฎหมาย แฝงโฆษณา ใช้สัญลักษณ์ แพคเกจ ที่เหมือนหรือคล้ายกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อหวังขยายฐานลูกค้า ทำกำไร ผลกระทบระยะยาวคือ การเพิ่มยอดขายให้เบียร์เพราะกฎหมายทำอะไรไม่ได้” นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นายบุญอยู่ ขอพรประเสริฐ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า กรณีบุหรี่ไฟฟ้า สิ่งที่ภาคธุรกิจทำคือ ใช้สื่อออนไลน์เน้นให้ข้อมูลเชิงวิชาการผ่านบทความเชิงให้ความรู้ โดยแฝงว่าจะช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ และมีโทษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image