‘หมอหนู’ จัดให้! ‘คนไข้ฉุกเฉิน’ เคลื่อนย้ายทางอากาศไม่ต้องควักเงิน ลั่นชีวิตสำคัญ ชวน ‘นักบินจิตอาสา’ ร่วม

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือ การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ (Helicopter Emergency Medical Service: HEMS) ระหว่างสถานบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยมี ร.อ.นพ.อัจริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. และ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) ร่วมลงนาม

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ เดิมการให้บริการส่วนใหญ่จะเป็นของภาคเอกชน ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้จ่ายเอง แต่หลังจากนี้ไปการให้บริการดังกล่าวจะไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากขณะนี้ได้รับงบประมาณรัฐบาลเข้ามาสนับสนุน หากไม่เพียงพอก็ยังสามารถขออนุมัติเพิ่มเติมได้ เพราะเรื่องนี้เป็นการช่วยชีวิตประชาชน และเชื่อว่าการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าหลังจากนี้ไปจะต้องมีการสร้างเครือข่ายในการบริการช่วยชีวิตผู้ป่วยทางอากาศมากขึ้น โดยจะเชิญชวนนักบินจิตอาสาที่มีความต้องการจะช่วยเหลือชีวิตคนเข้ามาร่วมโครงการนี้ด้วย

นายอนุทิน กล่าวว่า ทั้งนี้ การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย ส่วนมากอยู่ในภาคเอกชน ส่วนภาครัฐก็ทำมากว่า 10 ปี หรือที่เรียกว่า ไทยสกายด็อกเตอร์ (Thai Sky Doctor) หรือการลำเลียงผู้ป่วยด้วยอากาศยาน ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานจากหลายภาคส่วน อาทิ สพฉ. เป็นผู้จัดให้มีระบบการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ สธ.สนับสนุนด้านบุคลากรทีมแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ กระทรวงกลาโหม (กห.) สนับสนุนอากาศยานจากทุกเหล่าทัพ โดยมีภาคเอกชนร่วมช่วยสนับสนุนภารกิจ โดยการลงนามครั้งนี้ ยังได้จัดทำข้อตกลงเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือประชาชนผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการช่วยหรือ หรือการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินอากาศ พ.ศ.2497 เรื่อง การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์ และพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551

Advertisement

ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ได้เริ่มปฏิบัติการฉุกเฉินทางอากาศตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน วันที่ 17 สิงหาคม 2562 ได้มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศยานแล้ว 357 ครั้ง และสถิติการรอดชีวิตสูงมาก โดยผู้ที่รับบริการเป็นผู้ป่วยวิกฤต เช่น โรคทางสมอง ระบบหายใจและอุบัติเหตุรุนแรง ซึ่งโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่ง อาจไม่มีแพทย์เฉพาะ หากส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทางยกเพื่อไปอีกโรงพยาบาล อาจไม่ทันเวลา โดยผู้ป่วยอาจเสียชีวิตระหว่างนำส่งได้ เช่น หากต้องใช้รถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินจาก จ.แม่ฮ่องสอนไปจ.เชียงใหม่ ต้องใช้เวลา 6 ชั่วโมง แต่หากใช้การลำเลียงทางอากาศยานจะใช้เวลาเพียง 30 นาที

“สำหรับรูปแบบการให้บริการแบ่งเป็น 4 กรณี ได้แก่ การบินไปรับที่จุดเกิดเหตุ การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล การลำเลียงทีมแพทย์และเวชภัณฑ์ และการลำเลียงอวัยวะ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่จะขึ้นบิน โดยจะต้องดูสภาพผู้ป่วยว่าเหมาะสมที่จะลำเลียงหรือไม่ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ตลอดจนความพร้อมของอากาศยาน ทั้งนี้ กรณีหากแจ้งผ่าน สพฉ. โดย สพฉ.จะดูแลรับผิดชอบภายใต้กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน โดยคิดอัตราชั่วโมงบินละ 4 หมื่นบาท ต่อ 1 เครื่องยนต์ โดยเบื้องต้นงบประมาณของกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินจะได้รับการสนับสนุนอยู่ที่ปีละ 1,000 ล้านบาท” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นประเทศไทย มีผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาในห้องฉุกเฉิน ปีละ 35 ล้านครั้ง โดยโทรผ่านขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669 ปีละ 1 ล้านครั้ง และมีผู้ป่วยใช้บริการชุดปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน 1.8 ล้านครั้ง มีผู้ป่วยวิกฤต 3 แสนครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินทางบก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image