กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิด ‘ศูนย์ประสานตรวจกัญชาฯ’ เล็งทำมาตรฐานกลางใช้ทั่วปท.

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารรณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานการตรวจกัญชาทางห้องปฏิบัติการ (ส่วนกลาง) (Collaborating Center for Cannabis Testing Laboratories) ที่อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย เพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์ทุกขั้นตอนของขบวนการผลิต ทั้งวัตถุดิบ สารสกัดที่จะนำมาทำยา รวมถึงน้ำมันกัญชา พร้อมทั้งประชุมทางไกลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมเปิดให้บริการในส่วนภูมิภาคภายในเดือนตุลาคมนี้

นพ.โอภาส กล่าวว่า กระแสกัญชาเป็นที่ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นวงกว้าง โดยไม่มีวันใดที่ไม่นำเสนอข่าวกัญชา ขณะเดียวกัน ยังเป็นเรื่องใหม่ทางการแพทย์และวงการสาธารณสุข ซึ่งเดิมกัญชาถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ทำให้ทางการแพทย์เกิดความรู้สึกว่ากัญชาเป็นอันตราย และเป็นของไม่ดี แต่เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์การทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูก วิสาหกิจชุมชน และพูดคุยกับผู้ป่วย ทำให้มีทัศนคติที่ดีขึ้น และพบว่ากัญชามีประโยชน์ต่อคนไข้ ในหลายรายใช้กัญชารักษาแล้วอาการดีขึ้นจากที่เคยสิ้นหวัง เนื่องจากมีทั้งบวกและลบ หลายคนก็ใช้ไม่ถูกต้องและผิดวิธี มองว่ากัญชาจะให้ความรู้ต่อทางการแพทย์และวงการสาธารณสุข เพราะที่ผ่านมาถูกปิดกั้นในการพัฒนาด้านความรู้ ซึ่งยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมหาศาล คาดจะเกิดประโยชน์ครั้งใหญ่ต่อวงการแพทย์ในอนาคต ทั้งประโยชน์ต่อคนไข้ การใช้กัญชา และมูลค่าทางเศรษฐกิจ อาทิ การปลูกในประเทศเนเธอร์แลนด์ และอิสราเอล ที่สร้างมูลค่าทางตลาดอย่างมหาศาล

นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่มีความสามารถในการตรวจกัญชาทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับการประสานให้ตรวจการปนเปื้อน 4 ชนิด ในของกลางกัญชาแห้ง ต่อมาได้ตรวจค่าสารสำคัญจากสารสกัดน้ำมันกัญชา และล่าสุด ยังได้รับประสานให้ตรวจวิเคราะห์คนไข้ฉุกเฉินว่าเกิดจากพิษกัญชาหรือไม่ เรื่องนี้เป็นประเด็นใหม่ จึงต้องเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไร เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ และเตรียมความพร้อมศูนย์วิทยาศาสตร์กรมการแพทย์ เพื่อให้ 1.จัดทำมาตรฐานกลาง เป็นข้อตกลงและแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้การตรวจเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ เช่น ค่ามาตรฐาน ค่าอ้างอิง 2.การสนับสนุนระหว่างหน่วยงาน อาทิ สารมาตรฐานที่มีราคาสูงเป็นหลักล้าน สามารถสนับสนุนระหว่างห้องปฏิบัติการ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และ 3.เทคนิคในการตรวจใหม่ๆ จะต้องถูกพัฒนาในอนาคต เช่น ไม่ควรแข่งขันในการจัดทำเครื่องตรวจชนิดเดียวกัน เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ทั้งนี้ ในอนาคตกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตั้งเป้าให้เป็นหน่วยประสานงานกลางของประเทศ

“อีกทั้ง ยังจะหารือกันในเรื่องขอบเขตการตรวจกัญชา เช่น การตรวจกัญชาของกลางจะจำเป็นตรวจต่อไปหรือไม่ เพราะขณะนี้มีการปลูกที่มีการควบคุมมากขึ้น การตรวจจึงไม่จำเป็นต้องตรวจของกลางในปริมาณมากเกินควร มองว่าควรจะตรวจเฉพาะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Finished Product) เพื่อประกันเรื่องความปลอดภัยของคนไข้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ.” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับศูนย์ประสานการตรวจกัญชาทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีทั้งห้องปฏิบัติการในส่วนกลางที่สำนักยาและวัตถุเสพติด จ.นนทบุรี และห้องปฏิบัติการในศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาค โดยปัจจุบันห้องปฏิบัติการส่วนกลาง เริ่มดำเนินการตรวจทุกขั้นตอนของขบวนการผลิต ทั้งวัตถุดิบ สารสกัดที่จะนำมาทำยา รวมถึงน้ำมันกัญชา การทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจคัดเลือกของกลางกัญชาที่มีความปลอดภัย เพื่อนำมาใช้ผลิตยากัญชา ตรวจความปลอดภัยของพืชกัญชาที่ปลูกในระบบปิดขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตรวจวัตถุดิบสารที่ได้จากการสกัดที่ได้จากกรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ตรวจคุณภาพยากัญชาที่ได้จาก อภ. และโรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก่อนนำไปใช้ในโรงพยาบาล และให้การอบรมเจ้าหน้าที่จากห้องปฏิบัติอื่น เช่น ห้องปฏิบัติการของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานกัญชาที่จะนำมาใช้

“ทั้งนี้ ใช้เวลาในการตรวจทั่วไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และกรณีต้องตรวจซ้ำไม่เกิน 30 วัน ส่วนกรณีที่ตรวจคนไข้ว่าเสพกัญชาหรือไม่ โดยปกติตรวจปัสสาวะ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการสารกัญชาในร่างกาย แต่ถามว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น เกิดจากเสพกัญชาหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ จะต้องพูดคุยกับแพทย์ในเรื่องค่าอ้างอิงที่ตรงกัน ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการ สธ.มีนโยบายส่งเสริมการปลูกกัญชง จะต้องมีการตรวจวิเคราะห์แยกกัญชงและกัญชา โดยในอนาคตจะมีพัฒนาวิธีการตรวจใหม่ๆ ต่อไป” นพ.โอภาส กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเปิดให้บริการตรวจกัญชาทางห้องปฏิบัติการในส่วนภูมิภาคภายในเดือนตุลาคมนี้ ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา

นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงการตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ซึ่งเป็นตำรับยาทำลายพระเมรุ ว่า อยู่กระบวนการทดสอบความเป็นพิษในตำรับยาดังกล่าว ส่วนยาศุขไสยาศน์ ที่บางส่วนไม่ผ่านการตรวจก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่มีค่าสารพิษเกินปริมาณที่ร่างกายจะได้รับ

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image