กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยปี’62 ลดขยะได้กว่า 1.3 ล้าน กก. และยังคงมาตรการต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงการจัดการขยะในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศว่า สาเหตุของขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดให้มีการพักค้างแรม เช่น อุทยานฯ เขาใหญ่ หรือแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตกที่มีการปิกนิก เมื่อเข้ามาท่องเที่ยวแล้วไม่นำขยะที่ตนนำมากลับไป นักท่องเที่ยวบางคนไม่ทิ้งขยะลงถัง จึงเกิดเป็นปัญหาอย่างอื่นตามมา คือ สัตว์ป่ากินขยะ เช่น กวางในพื้นที่อุทยานฯเขาใหญ่ ตายเพราะกินพลาสติกไม่ต่ำกว่า 3 กิโลกรัม

นายทรงธรรม กล่าวอีกว่า ปัญหาดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่อุทยานแห่งชาติสีเขียว ในด้านการจัดการขยะ คือ ไม่มีขยะในอุทยานแห่งชาติด้วยหลักง่ายๆ คือ นำเข้า = นำกลับ อีกทั้งถังขยะในพื้นที่อุทยานฯ เราจัดเป็นระบบปิด คือ ป้องกันขยะทุกอย่างไม่ให้ออกมาข้างนอก จัดทำฐานรองรับขยะมูลฝอยที่เป็นฐานถาวร ไม่ให้ถังขยะมูลฝอยเอียงหรือล้มได้ง่าย เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าเข้ามากินได้

Advertisement

“นอกจากนี้ได้เล็งเห็นว่า การไม่มีถังขยะรองรับในจำนวนมากเกินไป จะเป็นการบีบบังคับให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับไปด้วย ซึ่งเราจะตั้งถังขยะในบางจุดที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่อุทยานฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรื่องขยะโดยเฉพาะ จัดทำตารางเวลาในการจัดการขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้ขยะมูลฝอยตกค้าง” นายทรงธรรม กล่าวและว่า การลดปริมาณขยะในพื้นที่อุทยานฯ ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ ทส. และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นั้น ได้ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกกับนักท่องเที่ยว โดยร้อยละ 80 ให้ความร่วมมือดี เห็นได้จากโครงการต่างๆ เช่น โครงการ ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 สามารถลดขยะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวลดลง 34,872 ใบ และในเดือนกรกฎาคม 2562 สามารถลดขยะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว 305,054 ใบ และยอดรวมของการลดขยะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว 4,592,391 ใบ

นายทรงธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนอัตราการเกิดขยะมูลฝอยในอุทยานแห่งชาติ ในปีงบประมาณ 2558 -2562 พบว่า ปี 2558 มีอัตราการเกิดขยะ 0.204 กิโลกรัม/คน/วัน ปี 2559 มีอัตราการเกิดขยะ 0.200 กิโลกรัม/คน/วัน ปี 2560 มีอัตราการเกิดขยะ 0.159 กิโลกรัม/คน/วัน ปี 2561 มีอัตราการเกิดขยะ 0.120 กิโลกรัม/คน/วัน และปี 2562 มีอัตราการเกิดขยะ 0.070 กิโลกรัม/คน/วัน ซึ่งยอดการเกิดขยะลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณขยะมูลฝอยในอุทยานแห่งชาติ ในปี 2558 มีปริมาณขยะ 2,648,171.94 กิโลกรัม ส่วนในปี 2562 มีปริมาณขยะลดลงเหลือ 1,310,071.07 กิโลกรัม

Advertisement

ผอ.สำนักอุทยานฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้กำหนดให้ร้านอาหาร ร้านค้า ของอุทยานแห่งชาติ ใช้ภาชนะที่สามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ หรือภาชนะที่เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น การห่ออาหารโดยใช้ใบตองและกระดาษ ใช้ขวดแก้วแทนขวดพลาสติก การใช้กล่องอาหารพลาสติกที่ให้นักท่องเที่ยวมัดจำ และส่งคืน เป็นต้น พร้อมกันนี้ ยังได้ขอความร่วมมือให้ร้านค้าที่อยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติช่วยกันงดใช้พลาสติกอีกทางหนึ่งด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image