ฮูย้ำ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ไม่ช่วยเลิก ซ้ำทำเยาวชนติดเพิ่มขึ้น เผย 98 ปท.ทั่วโลก ห้ามขาย!

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานสถานการณ์ควบคุมยาสูบโลกประจำปี 2562 ที่องค์การอนามัยโลกเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 (WHO report on the global tobacco epidemic 2019: Offer help to quit tobacco use) ว่า องค์การอนามัยโลกเตือนทั่วโลกถึงอันตรายของผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้าแบบแห้งหรือแบบเติมน้ำยา โดยย้ำว่ายังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอจะสนับสนุนว่าผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่เหล่านี้ มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม แม้จะพบว่าปริมาณสารพิษที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าอาจจะน้อยกว่าที่พบบุหรี่แบบดั้งเดิม แต่กลับพบว่าสารพิษที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าบางตัวไม่พบในบุหรี่แบบดั้งเดิม ทำให้ไม่สามารถจะสรุปได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม

“นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่เป็นสารเสพติดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญและพบมีปริมาณสูง เป็นอันตรายต่อผู้เสพโดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น และสตรีมีครรภ์ อีกทั้งไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยทำให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ ซ้ำหลักฐานบางชิ้นยังแสดงว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้การเลิกสูบบุหรี่เป็นไปได้ยากขึ้น จึงไม่แนะนำให้ผู้สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ และการเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่ธรรมดามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ถือว่าเป็นการเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากยังก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อสุขภาพผู้สูบ สังคม และคนรอบข้าง” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ด้าน ดร.วีรา ลิวซ่า ดา คอสตา เลขาธิการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบทั่วโลก คือ กลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ เช่น บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ที่พยายามสร้างภาพโดยการออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้ชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน โดยใช้งานวิจัยที่สนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่เอง สร้างความเข้าใจผิดเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้มีอันตรายน้อยกว่า เพราะไม่ทำให้เกิดควันเหมือนกันบุหรี่แบบดั้งเดิม แต่ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันไม่พบว่าผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านี้มีอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิม

ดร.วินายัก โมฮาน ปราสาด ผู้อำนวยการด้านการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก กล่าวย้ำว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ช่วยให้เลิกบุหรี่ ไม่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง และกล่าวชื่นชมประเทศที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแบบเด็ดขาด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประเทศที่ยังไม่ได้มีกฎหมายควบคุมให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องการเข้าถึงของเยาวชน

Advertisement

ขณะที่ พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ข้อมูลจากสถาบันเพื่อการควบคุมยาสูบโลก มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิ้น สหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมข้อมูลกฎหมายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 พบมี 98 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงไฟฟ้า (เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีเพียง 68 ประเทศ) ซึ่งในจำนวนนี้ มี 29 ประเทศที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแบบเด็ดขาดทุกประเภท (เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีการห้ามจำหน่ายเพียง 25 ประเทศ) และอีก 45 ประเทศห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าหากยังไม่ผ่านเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด (เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีเพียง 17 ประเทศ) และอีก 7 ประเทศ ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมของนิโคติน ซึ่งถือเป็นการยืนยันว่าหลายๆ ประเทศ ได้ตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image