‘รองปลัดแรงงาน’ ย้ำไทยมุ่งส่งเสริม ‘คุ้มครองสิทธิแรงงาน’ ภายใต้ฉันทามติอาเซียน

เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่โรงแรมพาร์ค พลาซ่าสุขุมวิท 18 นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวปราศรัยในที่ประชุม Policy Dialogue on the Implementation of the ASEAN Consensus on the Promotion and Protection of the Rights of Migrant Workers จัดโดย Migrant Working Group หัวข้อหลักการบริหารจัดการและการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวของประเทศไทยภายใต้กรอบฉันทามติอาเซียน

นายวิวัฒน์ กล่าวย้ำถึงการดำเนินการในระดับภูมิภาคอาเซียน ว่า ทั้งการออกปฏิญญาเซบูว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว และฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว โดยที่ในภูมิภาคอาเซียนมีกลไกขับเคลื่อนหลัก คือ คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว (ACMW) สำหรับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศไทยสอดรับกับฉันทามติอาเซียนฯ ซึ่งแบ่งประเด็นการดำเนินการเป็น 5 ประเด็น คือ 1.การศึกษา/ข้อมูลข่าวสาร 2.การคุ้มครอง 3.การบังคับใช้กฎหมาย 4.การขอความช่วยเหลือ และ 5.การคืนสู่สังคม

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลพยายามจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ โดยให้ประเทศต้นทางได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ด้วยการพิสูจน์สัญชาติแรงงานของตนและออกหนังสือเดินทางหรือหนังสือเดินทางชั่วคราวให้ไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนี้ ยังได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวโดยถูกกฎหมาย ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย 3.2 ล้านคน ได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักมาตรฐานสากล อันเป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานตั้งแต่ต้นทาง กระทรวงแรงงานยังได้ออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 เพื่อบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้มีระบบ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศและการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหากระบวนการขออนุญาต และความยากลำบากในการเปลี่ยนนายจ้าง การกำหนดห้ามนายจ้างยึดเอกสารประจำตัวคนต่างด้าว การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศให้ต้องจดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน เป็นต้น

Advertisement

“นอกจากนั้น เพื่อส่งเสริมเรื่องการศึกษาและข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการคืนสู่สังคมของแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างเพื่อเป็นศูนย์ฯ ในการอบรมให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามระบบเอ็มโอยู การตรวจ คัดกรอง แรงงานต่างด้าวว่ามีนายจ้างจริงตรงตามสัญญาจ้าง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย และเป็นจุดพักรอแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศ และยังได้สร้างการรับรู้และสร้างจิตสำนักในการไม่เกี่ยวข้องและให้เบาะแสการค้ามนุษย์ตามโครงการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่างด้าว โดยดำเนินการอบรมให้ความรู้กับนายจ้าง/สถานประกอบการได้เข้าใจบทบาท หน้าที่ การปฏิบัติต่อลูกจ้างและอบรมแรงงานต่างด้าวให้มีความรู้ ความเข้าใจในสิทธิ หน้าที่ กฎระเบียบ เพื่อป้องกันแรงงานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และมีการจัดทำคู่มือสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างด้าวเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาของแรงงานต่างด้าว (เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) เพื่อเป็นคู่มือให้แรงงานต่างด้าวได้รับทราบการปฏิบัติตัวในประเทศไทย การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ รวมถึงการขอรับความช่วยเหลือในประเทศไทย ควบคู่กับการจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวใน 10 จังหวัด เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำประสานงานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่แรงงานต่างด้าวที่ประสบปัญหาจากการอยู่และทำงานในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง” นายวิวัฒน์ กล่าว

รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสาร กรมการจัดหางาน (กกจ.)  ได้จัดทำเว็บไซต์ DOE Help me 6 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุตัวตน และยังมีสายด่วน 1506 ซึ่งมีบริการล่ามแปลภาษาด้วย การให้บริการล่ามยังครอบคลุมไปถึงการลดช่องว่างทางภาษาของแรงงานต่างด้าว โดยที่กระทรวงแรงงานดำเนินการจ้างล่ามและผู้ประสานงานด้านภาษาทำหน้าที่ประจำ ณ ศูนย์ต่างๆ อาทิ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง ศูนย์ประสานแรงงานประมง เป็นต้น โดยกระทรวงแรงงานคำนึงถึงการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในฐานะหุ้นส่วนทางสังคมที่สำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ยั่งยืนของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image