จับตา’หมอกควัน’ ‘สุมาตรา’สู่ไทย ภาคใต้เฝ้าระวัง

หมอกควันที่เกิดจากการเผาไหม้ป่าบนเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซียขณะนี้ได้เข้าปกคลุมพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มาเกือบ 1 สัปดาห์ ไม่นับประเทศเพื่อนบ้านทั้งชาวอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ต่างเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 (สงขลา) ได้รายงานสภาพหมอกควันไฟป่าที่ปกคลุมพื้นที่เมื่อ 10 กันยายนที่ผ่านมา ว่ามีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานต่อเนื่องนาน 3 วัน คุณภาพอากาศนั้นเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากการตรวจสอบตอนเช้า ที่สนามกีฬาจิระนคร อ.หาดใหญ่ ยังคงมีประชาชนเดินทางมาออกกำลังกายกันตามปกติ แม้บางส่วนจะหายไปซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว ส่วนในกลุ่มที่แข็งแรงดีแม้จะทราบข่าวแต่ก็ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติ โดยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันปัญหาหมอกควัน อย่างไรก็ดี ยังคงมีหมอกควันจางๆ ปกคลุมพื้นที่ ทำให้แสงแดดไม่สามารถส่องลงมาถึงพื้นดินได้ ประชาชนส่วนใหญ่สัมผัสได้ถึงความผิดปกติของอากาศ แต่ยังไม่ถึงกับได้กลิ่นควันในลักษณะไฟไหม้แต่อย่างใด

ธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 (สงขลา) ระบุว่า การติดตามภาพถ่ายดาวเทียม NOAA19 พบจุดความร้อน (Hotspot) ที่เกิดจากไฟไหม้ป่าบนเกาะสุมาตรา ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็น 247 จุด จาก 206 จุด ทำให้ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคใต้ พัดหอบเข้ามาได้ โดยขึ้นอยู่กับทิศทางและความแรงของลม

สำหรับ “สุมาตรา” เกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก มีขนาดพื้นที่ประมาณ 470,000 ตารางกิโลเมตร และเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ด้วยความที่เป็นผืนป่าใหญ่เขตร้อน จึงอุดมไปด้วยพืชพรรณและสัตว์หลากหลายชนิด ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างรุนแรง ทั้งการตัดไม้และการเผาป่าแผ้วถางที่ยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

หากปักหมุดบนแผนที่โลก ตีเส้นตรงจากเกาะสุมาตรามาถึงหาดใหญ่จะมีระยะทางประมาณ 850 กิโลเมตร หมอกควันที่ลอยมาด้วยอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ก็ยังลอยมาถึงอย่างง่ายดาย

สำหรับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้ของไฟป่า กรมควบคุมมลพิษกำหนดค่าความเข้มข้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไว้ไม่เกินมาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม.

เมื่อตรวจสอบค่าความเข้มข้นของหมอกควันพิษดังกล่าวจากเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ ช่วงเวลา 04.00 น. วันที่ 11 กันยายน ได้ผลตรวจคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่า 42 มคก./ลบ.ม. ระบุว่าอยู่ในเกณฑ์คุณภาพปานกลาง แต่ก็มีข้อแนะนำด้านสุขภาพ ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ แต่กลุ่มเสี่ยงควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยประชาชนกลุ่มเสี่ยง หมายถึง เด็ก คนชรา หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือด

Advertisement

หากย้อนกลับไปดูตัวเลขดังกล่าวพบว่า ช่วงวันที่ 5 ก.ย. ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 มีค่า 53 มคก./ลบ.ม. ตามด้วยวันที่ 6 ก.ย. วัดได้ 49, วันที่ 7 ก.ย. วัดได้ 48, วันที่ 8 ก.ย. วัดได้ 55, วันที่ 9 ก.ย. วัดได้ 52 และวันที่ 10 ก.ย. วัดได้ 40

ขณะที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางของอาเซียน (ASMC) ได้ออกมาเตือนว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศยังอาจเลวร้ายลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยเฉพาะบริเวณคาบสมุทรมาเลเซียพบฮอตสปอตเพิ่มขึ้นที่เกาะสุมาตรา อันเป็นผลของไฟป่าที่เผาผลาญอย่างหนัก รวมทั้งพื้นที่จังหวัดกาลิมันตันบนเกาะบอร์เนียวก็มีการเผาเช่นกันในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทางการอินโดนีเซียได้ส่งเจ้าหน้าที่กว่า 9 พันนาย เข้าดับไฟอย่างต่อเนื่องในขณะนี้

รายงานจากต่างประเทศบอกด้วยว่า ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนกำลังอยู่บนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทุกปี ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ต่างประสบปัญหาอย่างหนักต้องการที่จะเข้าร่วมแก้ปัญหากับทางรัฐบาลอินโดนีเซีย แต่ทาง นางสิติ นูรบายา บาคาร์ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของอินโดนีเซียกลับโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อ 8 กันยายน ว่ายังไม่มีหมอกควันของอินโดนีเซียลอยไปถึงประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด ก่อนจะโพสต์ตอนท้ายว่า เหตุการณ์ไฟป่า 99% เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ รัฐบาลอินโดนีเซียจะไม่ยอมให้พวกเผาป่าลอยนวล จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไป

ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยาของอินโดนีเซียปฏิเสธข่าวของสื่อในมาเลเซียอย่างแข็งขันเช่นกันว่าหมอกควันที่เกิดขึ้นบนคาบสมุทรมาเลเซียไม่ได้ลอยลมมาจากไฟป่าในเกาะสุมาตรา โดยยืนยันจากหลักฐานข้อมูลดาวเทียม

ทางด้านสำนักงานมาตรฐานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (PSI) ของสิงคโปร์ระบุเมื่อ 10 กันยายนที่ผ่านมา การตรวจพบจุดความร้อน 537 จุดในเกาะสุมาตรา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดิม 380 จุด ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว โดยพบหมอกควันในระดับปานกลางถึงหนาแน่นอย่างต่อเนื่อง และยังตรวจพบจุดความร้อนในกาลิมันตัน บนเกาะบอร์เนียวมีถึง 749 จุด

สื่อท้องถิ่นของมาเลเซียแจ้งด้วยว่า พบผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เกิดหมอกหนาปกคลุมทั่วรัฐซาราวักของมาเลเซีย จำเป็นต้องสั่งปิดโรงเรียนหลายร้อยโรงแบบชั่วคราวลงทันที เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อนักเรียนมากกว่า 157,000 คน

ทั้งนี้ ปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาป่าที่สุมาตราและบอร์เนียวเหนือในอินโดนีเซียกำลังเป็นข้อถกเถียงข้ามชาติ ที่ทางหน่วยงานของอินโดนีเซียไม่ยอมรับ โดยเฉพาะมาเลเซียจะทุกข์กว่าใครที่สุด

สำหรับประเทศไทยยังคงใช้มาตรการการดูแล ระมัดระวังในเรื่องสภาพอากาศอย่างเต็มที่ แจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับรู้และติดตามได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้แจ้งประชาสัมพันธ์สภาพอากาศในพื้นที่ของสงขลาที่ยังไม่ถึงกับแย่เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ออกโรงเตือนให้งดการเผาทุกประเภท ไม่อยู่ในบริเวณที่มีหมอกควันปกคลุม หากจำเป็นต้องอยู่ในบริเวณที่มีควันให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก กรณีที่ขับขี่ยานพาหนะในช่วงที่มีหมอกควันมาก ทัศนวิสัยไม่ดี ควรเปิดไฟหน้ารถเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และมีการปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง

ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์หมอกควัน ได้เพิ่มเติมทางเว็บไซต์สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 จ.สงขลา

หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน/อุบัติเหตุฉุกเฉิน สามารถขอความช่วยเหลือจากศูนย์นเรนทร สงขลา โทรสายด่วน 1669 บริการ 24 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image