พบซากดึกดำบรรพ์ “ไฮยีนาลายจุด – แรดชวา – กวางป่า – เม่นใหญ่แผงคอยาว” ในถ้ำยายรวก กระบี่

พบซากดึกดำบรรพ์ “ไฮยีนาลายจุด – แรดชวา – กวางป่า – เม่นใหญ่แผงคอยาว” ในถ้ำยายรวก กระบี่ในถ้ำยายรวก บ้านถ้ำเพชร ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ อายุ 80,000 – 200,000 ปี เผยพื้นที่ จ.กระบี่ เคยมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา สลับป่าทึบและเป็นเส้นทางสำหรับการย้ายถิ่นหรืออพยพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมไปยังหมู่เกาะต่างๆ ของมนุษย์ยุคโบราณจากแอฟริกาสู่ออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี(ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พร้อมด้วยนายกันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าวการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ไฮยีนาลายจุด (Crocuta crocuta ultima) แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) กวางป่า (Rusa unicolor) และ เม่นใหญ่แผงคอยาว (Hystrix brachyura) ภายในถ้ำยายรวก บ้านถ้ำเพชร ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญของการกระจายตัวของไฮยีนาลายจุดทางตอนใต้สุดเท่าที่เคยพบมา

นายสมหมาย กล่าวว่า ทธ. ได้รับแจ้งการค้นพบโครงกระดูกหินขนาดใหญ่ในตะกอนดินโบราณ จากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) อ่าวลึกเหนือ จ.กระบี่ จึงเข้าดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 โดยตรวจสอบภายในถ้ำเขายายรวก บ้านถ้ำเพชร ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ พบว่ามี ความเป็นไปได้ว่าจะเป็นซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม คือ นายกันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ ผลการตรวจสอบพบว่า มีซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ 4 สายพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่ ไฮยีนาลายจุด (Crocuta crocuta ultima) แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) กวางป่า (Rusa unicolor) และเม่นใหญ่แผงคอยาว (Hystrix brachyura) จากการคาดคะเนอายุเบื้องต้น น่าจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ช่วงปลายของสมัยไพลสโตซีนตอนล่างไปจนถึงช่วงต้นของสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (Middle to Late Pleistocene) หรือประมาณ 200,000 – 80,000 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันกรมทรัพยากรธรณี จะพัฒนาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ถ้ำยายรวก จ.กระบี่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป

Advertisement

นายกันตภณ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาไอโซโทปเสถียร (Isotope) ของธาตุคาร์บอนและศึกษาไอโซโทปของออกซิเจนจากเคลือบฟันของซากดึกดำบรรพ์ที่พบในถ้ำยายรวก ผลการวิเคราะห์ไอโซโทปยืนยันว่า พื้นที่กระบี่ในสมัยไพลสโตซีนหรือเมื่อประมาณ 200,000 ปีก่อนนั้น มีสภาพแวดล้อมเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา สลับป่าทึบเป็นหย่อมๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับการย้ายถิ่นหรืออพยพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมไปยังหมู่เกาะต่างๆ และเส้นทางอพยพของมนุษย์ยุคโบราณจากแอฟริกาสู่ออสเตรเลีย นอกจากนั้น ยังมีข้อสันนิษฐานว่าการกระจายตัวของไฮยีนาลงมาใต้สุดที่กระบี่นี้เป็นผลมาจากความไม่ต่อเนื่องของเส้นทางสะวันนา ที่ถูกคั่นด้วยป่าฝนในบริเวณซุนดาแลน ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นอยู่ทั่วไประหว่างคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย ในช่วงยุคน้ำแข็งในสมัยไพลสโตซีน ขณะที่ถิ่นฐานของไฮยีนาอาศัยอยู่บริเวณทุ่งหญ้าสะวันนา ปัจจุบันจึงพบไฮยีนาแค่ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น

Advertisement

นายกันตภณ กล่าวต่อว่า โดยซากดึกดำบรรพ์ไฮยีนาลายจุดที่เก่าแก่ที่สุด อายุประมาณ 400,000 ปี ถูกพบที่สาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับประเทศไทย พบไฮยีนาลายจุดกระจายตัวอยู่ 6 พื้นที่ ประกอบด้วย 1. ผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 2 – 1.6 แสนปี 2. บ่อทรายบ้านโคกสูง จ.นครราชสีมา 2 – 1.6 แสนปี 3. ถ้ำวิมานคินทร์ จ.ชัยภูมิ 2- 1.6 แสนปี 4. ถ้ำเพดาน จ.นครศรีธรรมราช 2 – 1.6 แสนปี5. ถ้ำประกายเพชร จ.ชัยภูมิ และ 6. ถ้ำยายรวก จ.กระบี่ 200,000 – 80,000 ปี ปัจจุบัน ไฮยีนาสายพันธุ์ย่อยนี้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ตาม การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไฮยีนาลายจุดที่ถ้ำยายรวก จ.กระบี่ ถือเป็นหลักฐานสำคัญของการกระจายตัวของไฮยีนาลายจุดลงมาทางตอนใต้สุดเท่าที่เคยพบมาในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image