“อนุทิน” ประเดิมปลูกกัญชาเกษตรแบบอินทรีย์ ต้นแรกในไทย ชี้ จุดเปลี่ยนประวัติศาตร์(ชมคลิป)

“อนุทิน” ประเดิมปลูกกัญชาเกษตรแบบอินทรีย์ ต้นแรกในไทยที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชี้ จุดเปลี่ยนประวัติศาตร์ 1 ล้านต้นครั้งนี้ เครื่องพิสูจน์เดินหน้าปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรกรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมปลูกกัญชาสายพันธุ์ไทยเพื่อใช้งานรักษาและวิจัย โดยประเดิมปลูก 85 ต้นจาก 12,000 ต้น ซึ่งจะทยอยปลูกในวันเดียวกัน โดยมี คณะผู้บริหาร อาทิ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการอภ. นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ นายอำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผศ.ภาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และยังมี ร.ต.สมบัติ บัญชาเมฆ หรือ “บัวขาว บัญชาเมฆ” นักมวยไทยชื่อดัง ในฐานะนักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยบริหารศาสตร์สื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมปลูก พร้อมตรวจเยี่ยมโรงเพาะกล้ากัญชา ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ได้ประเดิมปลูกกัญชาในลำดับต้นที่ 1 ขนาดต้นกัญชาอายุ 14 วัน

นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังกรมการแพทย์และอภ. ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตามมาตรฐานเกรดทางการแพทย์แบบครบวงจร ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งกรมการแพทย์ได้มอบเมล็ดพันธุ์กัญชา 12,000 เมล็ดให้แก่มหาวิทยาลัยโจ้ เพื่อทำการปลูกให้ได้มาตรฐาน โดยปราศจากการปนเปื้อนโลหะหนัก ก่อนเก็บผลผลิตเพื่อส่งมอบให้อภ. สกัดเป็นสารสกัดกัญชาใช้ทางการแพทย์ พร้อมตั้งชื่อสายพันธุ์ว่า “อิสระ 01 (ISSARA 01)” เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี เป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้โดยตรง และเชื่อมั่นว่าจะนำมาใช้ทางการแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วยได้ โดยการปลูกครั้งนี้เป็นการปลูกเกษตรแบบอินทรีย์ ภายในโรงเรือนสมาร์ทฟาร์มเป็นครั้งแรก รวมถึงจะขยายปลูกแบบกลางแจ้งต่อไปในพื้นที่เดียวกัน ภายในเนื้อที่ 3,040 ตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งสายพันธุ์อิสระ 01 เป็นสายพันธุ์ที่มีสารซีบีดี และทีเอชซี ระดับสมดุลกันเป็นสายพันธุ์ดีเด่นของกรมแพทย์

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับการปลูกกัญชาภายในครัวเรือนบ้านละไม่เกิน 6 ต้น หลายคนมองว่าเป็นการหาเสียงพล่อยๆ หรือไม่ ครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ โดยการผลักดันโยบายกัญชา ไม่ใช่เรื่องของการเมือง หรือเป็นการหาเสียง แต่เป็นเรื่องที่ต้องผลักดัน ภายใต้ประโยชน์ของวงการแพทย์ เพื่อให้ได้ใช้กัญชาอย่างอิสระเสรีทางการแพทย์ หลังจากนี้ เมื่อมีการพัฒนาสายพันธุ์ร่วมกัน และมีผลการใช้สารสกัดกัญชาอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนการปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ของคนไทย โดยแม่โจ้จะเป็นผู้นำในการสร้างเมล็ดพันธุ์ที่เข้ากับคนไทย เช่นเดียวกับหลายสถาบันที่กำลังดำเนินการ จะพยายามบูรณาการสายพันธุ์กัญชา และหวังเป็นยารักษาโรคภายในบ้าน ทั้งแพทย์แผนไทย แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย รวมถึงคาดหวังเป็นพืชเศรษฐกิจ ให้เกษตรกรไทยมีทางเลือกในการเสริมสร้างรายได้ และเป็นยาสมุนไพรหลังบ้านของพี่น้องชาวไทยทุกคน ลดค่าใช้จ่ายซื้อยาและพบแพทย์ ทั้งนี้ ขอย้ำกัญชาเสรีเพื่อเสรีทางการแพทย์ ไม่ใช่คนทั่วไปนำมาใช้เสรีตามใจชอบ

นายอนุทิน กล่าวถึงการจ่ายยาสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ว่า ปัจจุบันได้มีการจัดส่งสารสกัดไปยังโรงพยาบาลที่ร้องขอเข้ามาจนครบทุกแห่ง ทั้งในส่วนที่สกัดโดยอภ. และตำรับยาแผนไทย โดยกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก รวมถึงสูตรตำรับนายเดชา ศิริภัทร หรืออาจารย์เดชา ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ป่วยอย่าสั่งยาเอง หรือขอรับยาเฉพาะกัญชา โดยขอให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและสั่งจ่ายยา และไม่จำเป็นต้องไปสั่งยาออนไลน์ เพราะไม่รู้แหล่งที่มา ทั้งที่ขณะที่อภ.มีสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้ป่วยบางรายใจร้อนอยากใช้ และร้องว่าแพทย์ไม่ยอมสั่งจ่ายสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ต้องทำความเข้าใจต่อผู้ป่วยอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ต้องทำความเข้าใจ เพียงไปยังโรงพยาบาลและให้แพทย์วินิจฉัยโรค รักษาและสั่งยาตามอาการ หากแพทย์เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยากัญชา ผู้ป่วยก็ไม่ต้องใช้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนที่มีผู้ร้องว่าแพทย์ไม่ยอมจ่ายยาให้ ผู้ป่วยต้องเปิดกว้าง เนื่องจากแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่าสามารถยาอื่นรักษาได้

ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลว่าผลผลิตได้จะมีผู้ใช้น้อยกว่าผลผลิตหรือไม่ (Under Supply) ภายหลังส่งผลผลิตให้แก่โรงพยาบาล 10,000 ขวดกลับมีผู้ใช้ 80 ขวดเท่านั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีข้อกังวลใด ยกเว้นแต่มีผู้ใช้มากกว่าผลผลิต (Over Supply) ส่วนที่บอกว่ามีผู้ใช้เพียง 80 ขวดนั้นไม่เป็นความจริง พูดไปแบบนั้นโดยใช้ความรู้สึกส่วนตัว คอมมอนเซนส์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับรายงานมา และหากโครงการปลูกสำเร็จจะช่วยเพิ่มผลผลิตรวมเป็น 2 ล้านขวด ส่วนไทม์ไลน์ส่งเสริมให้ปลูกภายในครัวเรือน ตอนนี้ก็เดินหน้าทุกวัน ทำตามทุกอย่าง ทำตามที่ความสามารถและอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่มีไทม์ไลน์จนกว่าจะมีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนว่ามีความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นว่ารักษาโรคได้

ด้าน นพ.อรรฆศิลป์ กล่าวถึงประสิทธิภาพในการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ สูตรทีเอชซีสูงว่า ปัจจุบันคนไข้ทยอยมาลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อร่วมโครงการวิจัยมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคระบบประสาท เฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งมากถึง 3,000-4,000 คน แต่ผ่านเกณฑ์ไม่ถึงร้อยละ 10 ส่วนแผนการใช้ผลผลิตที่ได้ 1 ล้านขวดจากโครงการนี้ จะนำไปทดลองวิจัยใช้กับผู้ป่วยมะเร็งสุดท้าย และอีกส่วนวิจัยกับกลุ่มผู้ป่วยคลื่นไส้อาเจียน ขณะเดียวกัน ผลผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ สูตรทีเอชซีสูง ที่ได้นำไปทดสอบในหลอดทดลอง จะมีการแถลงผลวิจัยภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ส่วนสูตรซีบีดี และสูตรซีบีดีต่อทีเอชซี 1 ต่อ 1 ก็นำมาทยอยทดลองใช้ในผู้ป่วยของสถาบันมะเร็ง 4-5 ราย ปรากฎว่าผลการใช้ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ยังพิสูจน์ว่ารักษามะเร็งได้ ส่วนการทดลองใช้รักษาโรคลมชัก พบมีประสิทธิภาพการรักษาครึ่งต่อครึ่ง

ส่วนนพ.อิสระ กล่าวถึงผลตอบรับการในการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์รักษา ว่า เป็นการใช้ควบคู่กับการรักษาโรคปัจจุบัน และไม่ใช่เป็นทางเลือกแรกในการรักษา ซึ่งที่ผ่านมา ช่วยในการรักษามีผลเป็นที่น่าพอใจ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย และประคับประคองอาการผู้ป่วย รวมถึงจะต้องใช้รักษาร่วมกับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ใช่กัญชาตัวเดียว ซึ่ง 1 ล้านขวดที่มีผลผลิตมาจากโครงการนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการใช้กัญชาทางการแพทย์จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ ไม่ใช่มโน

นอกจากนี้ ศ.อานัฐ กล่าวถึงความพร้อมการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์. 12,000 ต้นที่โรงเรือนของมหาวิทยาลัยว่า กัญชานี้เป็นกัญชาสายพันธุ์ไทยอิสระ 01 ที่คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ปลอดสารปนเปื้อน และไม่ติดสิทธิบัตร และเตรียมขอจดสิทธิ์กับกรมวิชาการเกษตรและจะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ในโรงเรือน 3,040 ตรม. ซึ่งจะเป็นกัญชารุ่นแรก จากนั้นจะพัฒนาสายพันธุ์โดยนักวิจัย ได้อนุญาตอย่างถูกต้อตามกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ กัญชาพันธุ์อิสระ 01 จะสามารถจะเก็บเกี่ยวได้ในอีก 4 เดือน หรือประมาณ กุมภาพันธ์ 2563 โดยกัญชา 1 ต้นจะได้ดอกสด 200 กรัม (ก.) 10 กิโลกรัมจะได้ 1 กิโลกรัม (กก.) รวมดอกสด 24,000 กก. จากนั้นต้องอบแห้ง จะได้ 2,400 กก. ในอนาคตเตรียมปลูกขยายไปนอกโรงเรือน และพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรงมากขึ้นเพื่อในอนาคตชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดได้ สำหรับการปลูกในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้เตรียมพร้อมสำหรับระดับอุตาสาหกรรมเพื่อส่งมอบกัญชา 1 ล้านขวด ขนาด 5 ซีซีให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนความห่วงกังวล เป็นเรื่องของสภาพอากาศ เพราะการปลูกในโรงเรือน ได้รับความชื้นสูง จะมีศัตรูพืชสูง ต้องควบคุมแสงให้ดี

“สำหรับกัญชาพันธุ์ไทยจำเป็นต้องศึกษาวิจัยมาก เพราะไทยขาดองค์ความรู้ 50 ปีที่เป็นยาเสพติด เบื้องต้น กัญชาเป็นพืชต้องการแดด และความชื้นเหมาะสม แต่กฎหมายกำหนดให้ปลูกในโรงเรือน ทำให้ต้องทำให้กัญชามีความเครียด เกิดจากให้ความร้อน และความชื้นต่ำ เมื่อเจริญเติบโตระยะหนึ่งเพื่อให้ได้สารสำคัญที่ต้องการและจะต้องมีการตรวจสอบถึงระดับดีเอ็นเออีกครั้ง ซึ่งสารสำคัญขณะนี้มีกัญชาถึง 6 สายพันธุ์ที่ต้องพัฒนาต้องการ ทั้งทีเอชซีและซีบีดีในขนาดที่แตกต่างกันและต้องได้ตามมาตรฐาน แต่สำหรับมหาวิทยาลัยเตรียมพัฒนาสายพันธุ์ให้เกิดพันธุ์แม่โจ้ 01 เพื่อให้เป็นสายพันธุ์ไทย” ศ.อานัฐ กล่าว

อนุทิน ปลูกกัญชาอินทรีย์ ต้นแรก

อนุทิน ปลูกกัญชาอินทรีย์ ต้นแรก

โพสต์โดย Matichon Online – มติชนออนไลน์ เมื่อ วันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2019

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image