เสนอรัฐดูแล “พริตตี้-เชียร์เบียร์” หยุดตีตรา “ผู้หญิงง่าย” ห่วงปาร์ตี้ดื่มตามบ้าน กม.ไปไม่ถึง

เสนอรัฐดูแล “พริตตี้-เชียร์เบียร์” หยุดตีตรา “ผู้หญิงง่าย” ห่วงปาร์ตี้ดื่มตามบ้าน กม.ไปไม่ถึง

เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่โรงแรมแมนดาริน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิธีรนารถ กาญจนอักษร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม จัดเวทีเสวนา “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับพฤติกรรมดื่มหนักดื่มเร็ว และการคุกคามทางเพศ” ถอดบทเรียนจากกรณีการเสียชีวิตของพริตตี้สาวลันลาเบล โดยภายในงานมีการกิจกรรมไว้อาลัย เช่น พับนกกระดาษ อ่านบทกวี และยืนสงบนิ่งแก่ลันลาเบล

โดย นางสาวเอ(นามสมมุติ) อดีตพนักงานบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสาวเชียร์เบียร์ กล่าวว่า สังคมอาจมองอาชีพพริตตี้ เชียร์เบียร์ และเอ็มซีไม่ค่อยดี แต่อยากบอกว่าผู้หญิงอาจไม่มีทางเลือกมากนัก หลายคนมาทำอาชีพนี้เพราะสุจริต รายได้ดีกว่าทำพาร์ทไทม์ร้านสะดวกซื้อ ไม่เหนื่อย และที่สำคัญต้องการนำรายได้มาหาส่งตัวเองเรียน เลี้ยงตัวเอง และดูแลครอบครัว ไม่มีใครอยากมาทำแล้วประสบปัญหาอย่างนี้ แม้อาจมีบางส่วนที่พร้อมใจไปจบบนเตียง แต่ก็ไม่อยากให้สังคมมองแบบเหมารวม

อดีตสาวเชียร์เบียร์กล่าวอีกว่า การทำงานอาชีพนี้เป็นการทำงานบนความเสี่ยง เสี่ยงที่จะถูกลวนลามทางคำพูด การสัมผัสเนื้อตัวร่างกาย และยังเสี่ยงถูกคุกคามทางเพศ ส่วนตัวเชื่อว่ามีผู้หญิงหลายคนที่ประกอบอาชีพนี้แล้วถูกข่มขื่นแบล็กเมล์ แต่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาพูดความจริง จึงเกิดเป็นวงจรและการกระทำซ้ำ

ขณะที่ นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า อยากให้สังคมไทยได้ตื่นและเรียนรู้จากการเสียชีวิตของลันลาเบล ว่าปัญหานี้ไม่ใช่จากการดื่มเหล้า แต่มาจากมายาคติที่ผู้ชายจะจัดการผู้หญิงโดยเอาเหล้ามาเป็นเครื่องมือ เริ่มตั้งแต่ทัศนคติที่มองว่าผู้หญิงที่ทำอาชีพและอยู่ในสถานที่นี้ เป็นผู้หญิงง่าย จะพูดจาแทะโลม แต๊ะอั๋ง และล่าแต้มอย่างไรก็ได้ รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ โดยไม่คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การให้ผู้หญิงดื่มเหล้าช็อตละพันบาท
“เชื่อว่าคดีลันลาเบลไม่ใช่ครั้งแรก ขณะที่ทางออกของปัญหานี้คงไม่ใช่การบอกว่า อย่าดื่มเหล้า หรืออย่าพาตัวเองไปที่เสี่ยงๆ แต่ต้องเป็นการเคารพศักดิ์ศรี ที่รัฐต้องสร้างหลักประกันทางอาชีพให้ผู้หญิงเหล่านี้ เป็นแรงงานที่ได้รับการคุ้มครอง มีมาตรฐาน และสวัสดิการ ขณะเดียวกันเราก็ควรจะปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายกัน” นางนัยนากล่าว

Advertisement
ยืนไว้อาลัย
น.ส.เอ พับนก

นายแพทย์ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากจำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์ควรดื่มแต่น้อยๆ ได้แก่ เบียร์ไม่เกิน 2 กระป๋อง เหล้าไม่เกิน 2 เป็ก และไวน์ไม่เกิน 2 แก้ว หรือหากรู้สึกมึนๆ เดินเซๆ ก็ควรหยุดดื่ม หรือหากจะไม่ดื่มเลยก็ดีที่สุด ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากๆ แล้วสลบไป ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การปลุกเพื่อดูสติและการรับรู้ หรือดูชีพจรและการหายใจ หากปลุกไม่ตื่นควรโทรสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) โทร.1669 เพื่อเข้าถึงมือแพทย์อย่างด่วน

“สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยการจัดท่านอนตะแคง เพื่อป้องกันการสำลัก รักษาระดับศีรษะและคอให้เท่าๆกัน ค่อยๆพลิกตัวให้นอนหงาย เรียกชื่อดังๆ ให้ลืมตากว้าง ลองจิ้มที่ตัวเพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนอง มองที่อกหรือท้องเพื่อดูจังหวะการหายใจ หายใจช้าลงหรือติดขัด ร่างกายไม่ตอบสนองให้ทำซีพีอาร์ แล้วเรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด” นายแพทย์ธีรยุทธกล่าว

และ นายแพทย์พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า รูปแบบการดื่มแอลกอฮอล์ปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เป็นลักษณะจัดดื่มกันเองที่บ้าน ซึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ยังไปไม่ถึง เพราะครอบคลุมเพียงร้านค้าบริการในเชิงธุรกิจ เว้นหากดื่มแล้วได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือตาย ก็สามารถเอาผิดกฎหมายอาญาได้ ข้อหากระทำการโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อย่างไรก็ตาม จะมีการนำปัญหาต่างๆ เข้าไปสู่การพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในอนาคตต่อไป ซึ่งอยู่ในขั้นตอนตั้งคณะทำงานเสร็จแล้ว

Advertisement

“ในคดีของลันลาเบลคงต้องไปดูว่าบ้านงานที่จัด เป็นลักษณะจัดเชิงธุรกิจเก็บเงินค่าเข้า หรือนัดกินธรรมดา เพราะถ้าเชิงธุรกิจก็เข้าข่ายผิดหลายกฎหมาย และหลายมาตรา แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ผิดแค่อาญา ซึ่งคงต้องให้ศาลพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม อยากฝากสังคมว่าการแข่งดื่มเหล้า คือการแข่งตายอย่างหนึ่ง ไม่คุ้มที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยง” นายแพทย์พงศ์ธร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image