ทธ.เผยรอยเลื่อนเวียงแหง มีพลังแห่งที่ 16 เคยไหวสูงสุดขนาด 6.7 เมื่อ 2 พันปีก่อน

ทธ.เผยรอยเลื่อนเวียงแหง มีพลังแห่งที่ 16 เคยไหวสูงสุดขนาด 6.7 เมื่อ 2 พันปีก่อน คาดในอนาคตอาจเกิดแผ่นดินไหวได้

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีทธ. พร้อมด้วยนายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนธรณีภัยพิบัติ และตัวแทนกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว รอยเลื่อนเวียงแหง รอยเลื่อนมีพลังที่ 16 ของประเทศไทย

นายสมหมาย กล่าวว่า ขณะที่ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลังรวม 16 แห่ง โดยรอยเลื่อนเวียงแหง มีการวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ บริเวณใกล้ชายแดนประเทศเมียนมา จากอ.เวียงแหง – อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มีความยาวประมาณ 100 กม. พาดผ่าน 37 หมู่บ้าน ใน 8 ตำบล ของ 4 อำเภอ เป็นรอยเลื่อนลงในแนวดิ่ง มีอัตราการเลื่อนตัวระยะยาว 0.11 มิลลิเมตร/ปี โดยรอยเลื่อนเวียงแหงเป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่มีพลัง แต่ไม่รุนแรงหากเปรียบเทียบกับเมียนมาหรือญี่ปุ่น ซึ่งคาดปล่อยพลังงานสั่นไหวไม่เกินขนาด 7

Advertisement

นายสมหมาย กล่าวอีกว่า การค้นพบรอยเลื่อนมีพลังแห่งใหม่ของไทย ต้องการสร้างความรับรู้ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ให้รับมือจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ในอนาคตอาจมีโอกาสเกิดขึ้น และไม่อยากให้ประชาชนในพื้นที่ต้องตื่นตระหนก นอกจากนี้กรมฯ จะได้ส่งเสริมให้ข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อใช้เฝ้าระวัง ป้องกัน และรับมือเชิงพื้นที่ เช่น กรมโยธาฯ ใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดหลักเกณฑ์การก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และหน่วยงานอื่นๆ ที่จะนำข้อมูลเพื่อเตรียมการป้องกันและรับมือกับเหตุภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ และให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

Advertisement

 

ด้านนายสุวิทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลอ้างอิงของสหรัฐอเมริกา รอยเลื่อนมีพลัง คือ การพบหลักฐานว่าเคยเกิดการเลื่อนหรือขยับตัวมาแล้วในช่วง 10,000 ปี ซึ่งรอยเลื่อนมีพลังสามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตอาจมีการเคลื่อนตัวได้อีก สำหรับรอยเลื่อนมีพลังเวียงแหง กรมฯธรณี ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรวจสอบพบว่ารอยเลื่อนแห่งนี้เคยมีระดับการสั่นไหวสูงสุดอยู่ที่ขนาด 6.7 เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบมีการสั่นไหวขนาดเล็ก 2 – 3 จำนวนหลายครั้งมาก ซึ่งไม่รุนแรงถึงขั้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่แต่อย่างใด

ขณะที่กรมชลประทาน ยืนยันว่า โครงสร้างขนาดใหญ่ คือ เขื่อนแม่กวง และเขื่อนแม่งัดสมูบรณ์ชล จ.เชียงใหม่ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับแนวรอยเลื่อนเวียงแหง มีประสิทธิภาพสามารถรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหวในระดับสูงได้ จึงไม่เป็นปัญหาหากเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนเวียงแหง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image