ขบวนการล่า นกชนหิน เอาลูก-เอาโหนก ให้ราคาหัวละหมื่น อุทยานนั่งไม่ติด ผุดโครงการ ให้พรานเป็นผู้พิทักษ์

ภาพนกชนหิน โดย Wittawat K Noul-in (Guide K)

ขบวนการล่า นกชนหิน เอาลูก เอาโหนก ให้ราคาหัวละหมื่น อุทยานนั่งไม่ติด ผุดโครงการ เอาผู้ล่ามาเป็นผู้พิทักษ์

กรมอุทยานฯ ระบุนกชนหินมีไม่เกิน 100 ตัวในไทย เผยขบวนการล่า เพื่อเอาลูก เอาโหนก ให้ราคาหัวละหมื่น โลกออนไลน์ค้าผลิตภัณฑ์จากนกเงือกอีกเพียบ เร่งกำหนดมาตรการป้องกัน เอาผู้ล่ามาเป็นผู้พิทักษ์โดยจ้างพรานเป็นทีมงานวิจัยนกเงือกจ่อปรับสถานภาพนกชนหินจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

กรณีนายปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือก (ส่วนภาคใต้) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โพสเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงขบวนการล่านกชนหินในอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ว่า มีพรานมาซุ่มยิงนกเงือกชนหินถึง 4 ตัว อีกทั้งยังมีตลาดรับซื้ออยู่ในเมืองนราธิวาส ให้ราคาหัวละหมื่น นั้น

Advertisement

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กันยายน น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า นกชนหิน (Rhinoplax vigil) เป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิด ของนกในวงศ์นกเงือกที่พบในประเทศไทย มีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 และอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (IUCN red list) อีกทั้งจัดอยู่ในบัญชี 1 ตามอนุสัญญาไซเตส ประชากรนกชนหินในประเทศไทยเป็นกลุ่มประชากรขนาดเล็กมีการประมาณประชากรไม่เกิน 100 ตัว กระจายในพื้นที่อนุรักษ์ 3 แห่ง คือ อุทยานฯบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง และจากการติดตามข้อมูลการสร้างรังโดยมูลนิธินกเงือกแห่งประเทศไทยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 – 2562 พบนกชนหินทำรังสำเร็จเฉลี่ยปีละ 2 รัง และในปี 2562 จากการติดตามข้อมูลของสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงพบนกชนหินทำรังสำเร็จ 1 รัง

“สภาพปัญหาการล่านกชนหินในปัจจุบัน แบ่งการล่าออกเป็น 2 แบบคือล่า เพื่อเอาลูกซึ่งฤดูกาลทำรังประมาณเดือน ธันวาคม ถึงพฤษภาคม และแบบที่ 2 ถูกนายพรานล่าเพื่อเอาโหนก จากสถิติระหว่างปี 2558 – 2562 มีคดีการกระทำผิดด้านสัตว์ป่า กรณีของนกชนหิน 3 คดี จับผู้ต้องหาได้ 5 คน นกชนหินที่ยึดมาได้ยังมีชีวิต 3 ตัว เป็นซาก 1 ตัว” น.ส.กาญจนา กล่าว

น.ส.กาญจนา กล่าวว่า ทางองค์กร TRAFFIC ได้ทำการสำรวจติดตามและศึกษาเพื่อประเมินและประมาณขนาดของการค้านกชนหิน รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่นๆ บนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊กทั้งในกลุ่มเปิดและกลุ่มปิดในประเทศไทยโดยทุกกลุ่มเป็นกลุ่มที่เสนอขายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าต่างๆ จากการสำรวจติดตามเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 – เมษายน 2562 พบมีการโพสต์เสนอขายอย่างน้อย 236 โพสต์ที่เสนอขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้นใน 32 กลุ่มจากทั้งหมด 40 กลุ่ม และนกชนหินคิดเป็นสัดส่วน 83% จากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมด แบ่งเป็น 8 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ โหนกหัว, จี้ห้อยคอ, แหวน, สร้อยคอ, กำไลข้อมือ, หัวเข็มขัด, นกสตาฟ และชิ้นส่วนย่อยอื่นๆ เครื่องประดับที่พบบางส่วนถูกประดับตกแต่งด้วยชิ้นส่วนของสัตว์ป่าอื่นๆ

Advertisement

น.ส.กาญจนา กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ร่วมมือกับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกมหาวิทยาลัยมหิดลโดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญและกรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก เป็นหัวหน้าโครงการ ทำวิจัยการทำรังของนกชนหิน เพื่อศึกษาพฤติกรรมสำหรับใช้ในการวางแผนการจัดการ ขณะที่กรมอุทยานฯ ได้เพิ่มการสำรวจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อเฝ้าระวัง และการเพิ่มเครือข่ายเฝ้าระวังโดยการเปลี่ยนผู้ล่ามาเป็นผู้พิทักษ์โดยจ้างพรานที่เคยล่ามาเป็นทีมงานวิจัย พร้อมฝึกอบรมข้อมูลพื้นฐานทั้งลักษณะตัวเสียงร้องลักษณะรังของนกชนหิน จัดทำรังเทียมเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรังและเพิ่มประชากรในธรรมชาติ

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า นอกจากนี้ต้องสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมตำรวจ กรมศุลกากรและหน่วยงานปกครองในการเฝ้าระวัง ปราบปราม และบังคับใช้กฎหมาย บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลในการติดตามการซื้อขายซากและผลิตภัณฑ์ของนกชนหินและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งปรับสถานภาพนกชนหินจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่อเพิ่มความสำคัญในการกำหนดมาตรการการอนุรักษ์ และจัดทำแผนแม่บทการจัดการนกชนหินแห่งชาติ รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกในการรักษาและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติให้กับชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image