รณรงค์ฉีดวัคซีน วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก หมออลงกรณ์แนะ วิธีวิ่งหนีหมาบ้าให้รอด

รณรงค์ฉีดวัคซีน วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก หมออลงกรณ์แนะ วิธีวิ่งหนีหมาบ้าให้รอด

เมื่อวันที่ 27 กันยายน นายสัตวแพทย์(น.สพ.) อลงกรณ์ มหรรณพ กรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) พร้อมด้วยนายสาโรจน์ วงศ์เจริญสมบัติ ปศุสัตว์อำเภอกบินทร์บุรี ลงพื้นที่รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันโรคติดต่อ ในพื้นที่จ.ปราจีนบุรี เพื่อรณรงค์วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนได้เห็นถึงอันตรายของโรคนี้ พร้อมทั้งร่วมช่วยกันขจัดโรคนี้ให้หมดไป

น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อที่สำคัญระหว่างมนุษย์และสัตว์ เกิดจากเชื้อไวรัสในสกุล Lyssavirus วงศ์ Rhabdoviridae ปัจจุบันยังไม่มียารักษา มีแต่วัคซีนป้องกันโรค เกิดได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ตั้งแต่ช้างจนถึงกระรอก เชื้อนี้ในธรรมชาติพบได้ในสัตว์จำพวก สุนัขจิ้งจอก พังพอน หมาใน ลิงลม อีเห็น ค้างคาว โดยเฉพาะค้างคาวดูดเลือด ต่อมาได้มีการแพร่ระบาดเข้ามาสู่สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ สุนัข และแมว มนุษย์ติดต่อหรือได้รับเชื้อไวรัสนี้ จากสุนัขเป็นตัวการสำคัญ และแมวเป็นอันดับรองลงมา การติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้านั้น เชื้อไวรัสจะติดต่อ หรือเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ และสัตว์โดยการถูกสัตว์ที่เป็นบ้ากัด ไวรัสในน้ำลายของสัตว์ป่วยจะเข้าทางบาดแผล และเดินทางไปยังระบบประสาทเข้าสู่ประสาทส่วนกลาง สัตว์ที่ถูกกัดโดยสัตว์ที่มีอาการโรคพิษสุนัขบ้าจะตายด้วยอาการทางประสาท คือ อัมพาตทั่วร่างกาย “จากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 18 ราย แพร่กระจายไปกว่า 14 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้ไปพบแพทย์หรือรับวัคซีนภายหลังจากที่โดนสัตว์กัดหรือข่วน” น.สพ.อลงกรณ์ กล่าว

Advertisement

น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากถ้าเลี้ยงสุนัข แมว ไว้ในบ้าน ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี และควรนำสัตว์เลี้ยงไปให้สัตวแพทย์ตรวจร่างกายอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง ถ้าถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กัด ข่วน หรือเลีย ให้ทำความสะอาดบาดแผลทันทีด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือสบู่ทำความสะอาดบาดแผล และใส่ยา ทิงเจอร์ไอโอดีน ทิงเจอร์โพวิโดน แล้วไปพบแพทย์โดยเร็ว ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงภายในบ้านไปเล่น หรือสัมผัสกับสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ หรือสัตว์จรจัด ถ้าสัตว์เลี้ยงภายในบ้านถูกสัตว์จรจัดกัดควรนำสัตว์ที่ถูกกัดพบสัตวแพทย์ทันที และควรจดจำ ลักษณะอาการของสัตว์จรจัด เพื่อให้ข้อมูลแก่สัตวแพทย์ที่ตรวจรักษาประกอบการพิจารณาวางแผนฉีดยาป้องกันโรคแก่สัตว์เลี้ยงได้ถูกต้อง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์เป็นงานประจำ เช่น ในสวนสัตว์ ฟาร์มเพาะขยายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละ 1 ครั้ง ในกรณีที่มีการเลี้ยงสุนัข แมว จำนวนมาก เช่น ที่รับเลี้ยงสุนัข ที่พักพิง ต้องจัดการทำหมันสัตว์ทั้งหมด และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สัตว์ทุกตัว ปีละ 1 ครั้ง การทำความสะอาดสถานที่เลี้ยงควรใช้ยาฆ่าเชื้อโรคผสมน้ำทำความสะอาดตรงพื้นกรงที่อยู่อาศัยทุกวัน “โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน”

น.สพ.อลงกรณ์ กล่าวว่า หากพบเห็นสุนัขที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า เช่น ตาขวาง ปากอ้าหุบไม่ลง น้ำลายไหลยืด ตัวแข็ง หางตก ให้หลีกเลี่ยงให้ไกล หรือถ้าวิ่งหนี ให้วิ่งแนวตรงก่อนประมาณ 20 – 30 เมตร แล้ววิ่งหักข้อศอก คือ วิ่งในแนวตั้งฉาก 90 องศาทันที จะหลบหลีกจากสุนัขบ้ากัดได้ แต่ถ้าเห็นสุนัขบ้าแต่ไกลให้หลีกเลี่ยงให้ไกลที่สุดอย่าเข้าใกล้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image