คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชงออกกม.สกัดจัดปาร์ตี้แข่งดวลเบียร์-เหล้าในบ้าน

คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชงออกกม.สกัดจัดปาร์ตี้แข่งดวลเบียร์-เหล้าในบ้าน

วันที่ 27 กันยายน ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค สธ. เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการสธ. เป็นประธานประชุม ว่า สำหรับประเด็นการพิจารณาในที่ประชุม 1.การจัดโปรโมชันและการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น ในช่วงออกพรรษจนถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ จะต้องบังคับใช้กฎหมายมาตรา 30 และมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด 2.รณรงค์แคมเปญกฐินปลอดเหล้า หลังช่วงลด ละ เลิก ช่วงเข้าพรรษาต่อเนื่องช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยจะเชิญชวนให้ทุกเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินการ พร้อมเชิญชวนผู้ลด ละ เลิกแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษดำเนินการต่อเนื่องจนถึงช่วงปีใหม่ 3.มาตรการการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จะมอบหมายให้ทุกจังหวัด เร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายและเกิดการดำเนินงานต่อเนื่องในพื้นที่ รวมถึง 4.การบำบัดรักษาในช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้มีการเตรียมความพร้อมและดูแลกรณีผู้ที่เมาแล้วขับทุกราย ซึ่งกรมคุมประพฤติก็พร้อมที่จะคัดกรองคนเมาแล้วขับ จับคุมประพฤติด้วย

นพ.นิพนธ์ กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของพริตตี้ดัง ลันลาเบล ที่มีผู้เสนอในที่ประชุมให้สธ. ออกประกาศเพิ่มเติมมาตรา 30(6) เอาผิดการส่งเสริมการขาย ด้วยวิธีแข่งดื่มที่พบว่า กฎหมายยังไม่สามารถครอบคลุมเอาผิด การแข่งดื่มที่จัดในบ้านได้ ที่เป็นประเด็นสำคัญของกรณีพริตตี้ดื่มหนักดื่มเร็วจนเสียชีวิต ว่า โดยในที่ประชุมได้มอบให้ทางทีมอนุพิจารณาร่างกฎหมายว่ามีกฎหมายในส่วนที่เอื้อหรือเกี่ยวข้องอย่างไร เนื่องจากในวิธีการขายนั้นจะมีมาตรา 30 (6) เข้ามาเกี่ยวข้องเปิดให้ออกกฎหมาย โดยสามารถดำเนินการร่างอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องขึ้นมาได้ ส่วนนี้จะรับไปดำเนินต่อไป แต่ในส่วนของร้านค้าที่จัดทำโปรโมชัน จะเข้าข่ายมาตรา 30 (5) สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ ซึ่งปัจจุบันการบังคับใช้ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ ยังไม่เอื้อในการบังคับใช้ภายในบ้าน ส่วนนี้จะให้อนุร่างฯไปพิจารณาเรื่องในส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไป

“โดยในเบื้องต้น สิ่งสำคัญไม่ได้เกี่ยวกับการออกกฎหมายเป็นหลัก แต่อยู่ที่การทำให้ทุกคนตระหนักและเข้าใจว่าการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ปลอดภัยต่อชีวิต บางคนที่มีอาการแพ้ แม้ดื่มแต่เล็กน้อยก็มีความเสี่ยงเสียชีวิต ส่วนการดื่มเร็ว ดื่มมากในระยะสั้น ทำให้การดื่มซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงขึ้นฉับพลัน ส่งกระทบต่อสมองและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งกรณีคนทั่วไปหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือกมากว่า 300-400 %ก็เสี่ยงชีวิตสูงอยู่แล้ว ขณะที่บางคนแค่ 200-300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็เสี่ยงตายได้ หากผู้ดื่มมีอาการสำลัก มากจากดื่มมากและดื่มไว” นพ.นิพนธ์ กล่าว

Advertisement

นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า การจัดงานภายในบ้านจะเข้าข่ายเรื่องการตลาดหรือไม่นั้นอยู่ที่เจตนารมณ์ โดยกฎหมายระบุห้ามขายห้ามซื้อ หากเชิญชวนมาจัดสังสรรค์ และมีการขายบัตรเพื่อเข้าร่วมงาน ถือว่าเข้าข่ายการส่งเสริมการขาย หากแค่สังสรรค์ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน โดยวิธีการจะต้องดูตามเจตนารมณ์ รวมถึงกรณีสาวเชียร์เบียร์ และเหล้าเดินถือถาดเร่ขายแอลกอฮอล์ ถือว่าเข้าข่ายส่งเสริมการตลาดผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ในที่ประชุม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสธ.ยังรับปากในการทำหน้าที่เป็นผู้ประสานกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลด้านโลโก้ของเบียร์ 0% ซึ่งคาบเคี่ยวกับการใช้โลโก้ไปยังสินค้าชนิดอื่น รวมถึงป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ในการหันไปดื่มแอลกอฮอล์จริงแทน โดยต่างประเทศได้มีการควบคุมไปแล้ว แต่ไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image