รวบ ‘หมอเถื่อน’ ใช้คอนโดมิเนียมย่านบางเขนเป็นฐานฉีดสารเสริมงาม อย.ลงดาบทันที4ข้อหา

บุกรวบหมอเถื่อนลักลอบใช้คอนโดมิเนียมย่านบางเขนเป็นฐานฉีดสารเสริมความงาม พบเคยต้องโทษมาแล้วแต่ยังทำผิดซ้ำซาก สั่งลงดาบทันที 4 ข้อหา พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อ

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สบส.ได้รับการประสานจากขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ในการบุกจับหมอเถื่อนซึ่งลักลอบใช้คอนโดมิเนียม ย่านบางเขนเป็นฐานฉีดสารเสริมความงาม จึงได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากกองกฎหมาย สบส. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง ย่านบางเขน

“จากการตรวจสอบเบื้องต้นของพนักงานเจ้าหน้าที่ พบว่าหมอเถื่อนรายนี้มีฉายาว่า “หมอป็อป” เคยต้องโทษมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เมื่อพ้นโทษออกมากลับมาทำผิดซ้ำซากเช้าห้องพักในคอนโดมิเนียม เปิดเป็นคลินิกเถื่อน ลักลอบให้บริการฉีดสารเสริมความงาม อาทิ โบท๊อกซ์ ฟิลเลอร์ ฯลฯ โดยมิได้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหาในเบื้องต้นทันที 4 ข้อหา ประกอบด้วย 1.ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีความผิด พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.จำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ 4.จำหน่ายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีความผิด พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก่อนนำตัวผู้กระทำผิดพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” อธิบดี สบส. กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดให้การศัลยกรรมหรือฉีดสารเสริมความงามประเภทต่างๆ จะต้องกระทำโดยแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมและทำในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากกระทำโดยผู้ที่ไม่มีความชำนาญ หรือทำในสถานที่ที่ไม่ได้มาตรฐานก็จะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้รับบริการได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยก่อนรับบริการทางการแพทย์ทุกชนิด ขอให้ตรวจสอบหลักฐาน 4 ประการ 1.ป้ายชื่อคลินิกต้องแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก 2.มีการแสดงใบอนุญาตเปิดกิจการคลินิก 3.มีการแสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมคลินิกที่เป็นปีปัจจุบัน 4.มีการแสดงหลักฐานของแพทย์ที่ให้บริการในคลินิก ทั้งชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายติดที่หน้าห้องตรวจ และเพื่อความมั่นใจให้ตรวจสอบชื่อคลินิกที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สบส. (www.mrd-hss.moph.go.th) และตรวจสอบชื่อแพทย์ที่เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) หากไม่พบรายชื่อหรือแสดงหลักฐานไม่ครบถ้วนไม่ควรรับบริการโดยเด็ดขาด และหากอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งเบาะแสที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสบส.โทร.0 2193 7057 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image