ผลวิจัยชี้ ปชช.สิทธิ “บัตรทอง” อัตราป่วยลดลงเหตุเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยถึงการศึกษาวิจัย “ผลทางเศรษฐกิจของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กรณีศึกษาโครงการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ว่า ได้ตั้งสมมติฐานของผลที่เกิดจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 2 ส่วน คือ ระบบบัตรทองได้ทำให้ประชาชนที่ได้รับสิทธิมีสุขภาพดีขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกัน การมีสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชนที่ได้รับสิทธิบัตรทองส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจาก ผู้ที่มีสุขภาพดีขึ้นย่อมมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น   

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้เปรียบเทียบและประเมินผลใน 2 กลุ่มประชากร คือ กลุ่มประชากรที่ได้รับสิทธิบัตรทอง และกลุ่มประชากรที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่น อาทิ สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นต้น โดยใช้ข้อมูลผลสำรวจประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติในการประเมินผล เปรียบเทียบระหว่าง 2 ปี คือ ปี 2544 ซึ่งเป็นปีก่อนมีระบบบัตรทอง และปี 2556 หลังมีบัตรทอง ซึ่งเป็นปีที่ข้อคำถามในการสำรวจข้อมูลสุขภาพและรายได้ใกล้เคียงกับปี 2544 มากที่สุด

“เมื่อดูอัตราการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพโดยนำมาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มประชากรที่ได้รับสิทธิบัตรทอง และกลุ่มประชากรที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่น พบว่า กลุ่มประชากรที่ได้รับสิทธิบัตรทองมีการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในทางที่ดีมากกว่ากลุ่มประชากรที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่น” ทั้งในกลุ่มประชากรอายุ 0-20 ปี เป็นกลุ่มเมื่ออายุเพิ่มขึ้นอัตราความเจ็บป่วยยิ่งลดลง โดยอัตราการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่ตอบว่าป่วยในช่วง 2-4 สัปดาห์ที่ผ่านมาดีกว่ากลุ่มประชากรที่ใช้สิทธิสวัสดิการอื่นๆ ร้อยละ 18 ขณะที่กลุ่มประชากรอายุ 20 ปีขึ้นไป เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะมีอัตราความเจ็บป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงของผู้ที่ตอบว่าป่วยในช่วง 2-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดีกว่าประชากรที่ใช้สิทธิสวัสดิการอื่นๆ ร้อยละ 10 ที่เป็นผลจากการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้น จึงสรุปได้ว่า ประชากรที่ได้รับสิทธิบัตรทองมีสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น” ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนสมมติฐานเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรที่ได้รับสิทธิบัตรทองนั้น ผลการศึกษาที่ได้ไม่ตรงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ จากข้อมูลพบว่า ประชากรที่ได้รับสิทธิบัตรทองมีอัตราการเพิ่มของรายได้ต่ำกว่าประชากรสิทธิรักษาพยาบาลในสวัสดิการอื่นประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน และเมื่อเปรียบเทียบรายได้โดยเฉลี่ยพบว่า มีรายได้ที่ต่ำกว่าประชากรสิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการอื่นๆ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน สรุปว่าประชากรที่ได้รับสิทธิบัตรทองมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังมีอัตราและสัดส่วนของรายได้ต่ำกว่ากลุ่มประชากรที่มีสิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการอื่น ซึ่งอธิบายได้ว่าเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำของสังคมในมิติอื่นนอกระบบสุขภาพ เช่น เศรษฐกิจ อาชีพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลจากการศึกษานี้เป็นข้อมูลที่เปรียบเทียบในระดับประชากร ซึ่งในส่วนผลหลักประกันสุขภาพที่เกิดกับรายได้นั้น หากจะให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน จะต้องต่อยอดทำการศึกษาแยกกลุ่มรายได้เพื่อเปรียบเทียบต่อไปเพื่อความชัดเจน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image