“ไบโอไทย” แนะทางออกหลังเลิกใช้ 3 สารเคมี สธ.เปิดผลสุ่มตรวจผักผลไม้พบปนเปื้อนเพียบ

“ไบโอไทย” แนะทางออกหลังเลิกใช้ 3 สารเคมี สธ.เปิดผลสุ่มตรวจผักผลไม้พบปนเปื้อนเพียบ

วันที่ 8 ตุลาคม นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาภายหลังยกเลิกใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ว่า จากการสำรวจข้อมูลโดยมหาวิทยาลัย และข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าเกษตรกรในประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 50 ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมีแนวโน้มครัวเรือนที่ไม่ใช้จะเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับแปลงเกษตรที่มีการใช้สารเคมีนั้น พบว่า หากเป็นปาล์มน้ำมัน ยางพารา มีการใช้น้อยและใช้ในช่วงที่เป็นต้นอายุน้อย ขณะที่พืชอ้อยมีการใช้สารเคมีเช่นกัน แต่จะเน้นเฉพาะพื้นที่ ซึ่งพบว่ามีการใช้มากแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ภาคกลาง ซึ่งปลูกอ้อยเช่นกันกลับหันไปใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ซึ่งได้ผลผลิตดีกว่าใช้สารเคมี อย่างไรก็ตาม ที่พบว่ามีการใช้มากที่สุดคือ มันสำปะหลัง และข้าวโพด

“จากการสำรวจพบว่าทั่วประเทศมีการใช้สารเคมีในแปลงเกษตรร้อยละ 15-20 ส่วนใหญ่เป็น พาราควอต และไกลโฟเสต ซึ่งหากรัฐบาลต้องการยกเลิกใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จะมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งต้องแบกรับต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการดังกล่าว ดังนั้นมีข้อเสนอว่า 1.รัฐบาลควรเข้าไปสนับสนุนคนกลุ่มนี้ 2.เมื่อไม่ใช้ 3 สารเคมี คือ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส ก็ไม่จำเป็นต้องหาสารเคมีตัวอื่นทดแทน แต่ให้สนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชคลุมดิน หรือจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถไถ เครื่องตัดหญ้า เป็นต้น และ 3.ให้สนับสนุนการสร้างอาชีพบริการใหม่ในชุมชน เช่น งานรับจ้างตัดหญ้า เป็นต้น” นายวิฑูรย์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ต้นทุนของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากการยกเลิกใช้สารเคมีนี้ เป็นภาพลวงตาอันเกิดจากความไม่เป็นธรรมในระบบภาษี เพราะที่ผ่านมามีการยกเว้นภาษีนำเข้าสารเคมีเหล่านี้ ขณะที่มีการเก็บภาษีกับสินค้าประเภทเครื่องจักรกลทางการเกษตรจนทำให้เกษตรกรเข้าไม่ถึง

นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ครั้งล่าสุดวันเดียวนี้ กรรมาธิการฯ ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการเปิดเผยผลการสุ่มตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) หาสารตกค้างทั้งพาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส ในพืชผักและผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วประเทศ ช่วงปี 2560- 2562 พบว่า จากการสุ่มตรวจพาราควอตในผักผลไม้ 168 ตัวอย่าง ในปี 2562 พบผักร้อยละ 26.6 มีสารตกค้าง โดยร้อยละ 6.2 ตกค้างเกินมาตรฐาน (คะน้า ผักหวาน กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว พริกขี้หนู) ส่วนผลไม้ ร้อยละ 12.5 มีพาราควอตตกค้าง โดยร้อยละ 5 เป็นการตกค้างเกินมาตรฐาน (ส้ม) นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจน้ำจากแหล่งเพาะปลูก นาข้าว สวนผัก ในปี 2560 จาก 10 ตัวอย่าง พบตกค้างในนาข้าว 1 ตัวอย่าง อีกทั้งในปี 2561 สำรวจผักและผลไม้สดจากตลาดค้าส่ง 10 แห่ง จาก 240 ตัวอย่าง พบคลอร์ไพริฟอสตกค้าง 27 ตัวอย่าง ร้อยละ 16.9 ในจำนวนนี้เกินมาตรฐาน 22 ตัวอย่าง ร้อยละ 13.8 ผักที่พบสารตกค้างคือ บัวบก ผักชี ผักชีฝรั่ง ถั่วฝักยาว มะเขือยาว มะเขือเปาะ สะระแน่ ผัวแพว และคะน้า ดังนั้น ที่มีการถกเถียงกันก่อนหน้านี้ว่า สารเคมีเหล่านี้ไม่ตกค้างในดิน แหล่งน้ำ และพืชผักจึงไม่เป็นความจริง

Advertisement

“จากการประชุมวันนี้ ที่ประชุมมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าจำเป็นต้องปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนด้วยการยกเลิกใช้ 3 สารเคมีเหล่านี้” นายวิฑูรย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image