หัวหน้าเขาใหญ่แจง ร้านอาหารเหวนรกแย่งทางช้างเดิน

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงภายหลังมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินของช้างอันอาจจะเป็นสาเหตุให้ช้างเดินตกเหว ดังนี้

รายงานกรณี โพสต์เฟซบุ๊ก “คืนทางช้างเดินรื้อร้านอาหารเหวนรก”

ข้าพเจ้า นายครรชิต ศรีนพวรรณ

ตำแหน่ง : หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

Advertisement

หน่วยงาน : อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

รายงานชี้แจงประเด็น : โพสต์เฟซบุ๊ก “คืนทางช้างเดินรื้อร้านอาหารเหวนรก” เปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ https://m.facebook.com/100001640566942/posts/2657202824344377?sfns=mo ข้าพเจ้าขอเรียนชี้แจง ดังนี้

Advertisement

จากเเฟซบุ๊กจืด เข็มทอง ได้โพสต์ “คืนทางช้างเดินรื้อร้านอาหารเหวนรก” เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ในเนื้อหาได้มีข้อเสนอประเด็นที่ทำให้ช้างตกน้ำตกเหวนรก จำนวน 2 ประเด็น ประเด็นที่ 1 เป็นเพราะความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ประเด็นที่ 2 เป็นเพราะการสร้างสิ่งปลูกสร้างอาหาร บ้านพัก และพื้นที่บริการ ไปทับเส้นทางหากินของช้างป่า ซึ่งมีการแชร์โพสต์มากถึง 1,400 ครั้ง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขอชี้แจงดังนี้ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 เกิดจากความบกพร่องเจ้าหน้าที่ หละหลวม ประมาท ไม่มีเวรยามป้องกันช้างตกเหวนรก นั้น

1.1 ด้วยปรากฎว่า ในช่วงหลายปีย้อนหลังกลับไป มีโขลงช้างใช้พื้นที่ในการเดินทางและหาอาหารในบริเวณถนนสาย3077 (ที่ทำการฯ-ด่านเนินหอม) เป็นจำนวนมากและเป็นประจำ และบางโขลงสร้างความเสียหายให้กับรถยนต์ของนักท่องเที่ยวเป็นประจำ การเผชิญหน้าของช้างกับนักท่องเที่ยวมีบ่อยครั้ง มีการจราจรติดขัดเป็นประจำ อีกทั้งมีนักท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ทำให้ช้างปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประกอบกับการเดินโดยใช้เส้นทางเข้าไปด้านหน้าของน้ำตกเหวนรกมีจำนวนน้อยลงๆ เจ้าหน้าที่จึงปรับกำลังคนออกมาแก้ไขปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง ดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกการจราจรติดขัด ป้องกันการทำลายทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ควบคุมและปรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในการรบกวนช้าง การป้องกันช้างให้กลับเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัย การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ได้จัดชุดจักรยานยนต์และรถยนต์เคลื่อนที่เร็วติดตามกำกับดูแล ผลักดันให้เข้าสู่พื้นที่ปลอดภัย และจัดตั้งป้อมยามมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด24ชม.รับแจ้งเหตุและระวังภัยด้านหน้าทางเข้าน้ำตกเหวนรก ซึ่งการปฏิบัติงานที่ผ่านมาเป็นการจัดอัตรากำลังให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี มิได้หละหลวมเพิกเฉยหรือมองข้ามปัญหาที่เกิดในอดีตแต่อย่างใด

1.2 มีเอกสารทางวิชาการ รับรองว่ามีช้างใช้เส้นทางสาย 3077 มากขึ้น โดยวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เรื่อง ประชากรและการใช้พื้นที่อาศัยของช้างป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (มนันยา, 2561) ได้ประเมินประชากรช้างป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีประมาณ 300 ตัว และพบว่าช้างป่าเขาใหญ่ชอบอาศัยในพื้นที่มีโป่ง แหล่งน้ำ ทุ่งหญ้าอยู่ในบริเวณเดียวกัน และพบว่าบริเวณพื้นที่น้ำตกเหวนรกเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของช้างป่า และในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งพบช้างป่าอาศัยอยู่บริเวณถนนสาย 3077 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 21-22 (น้ำตกเหวนรก) มีค่าใกล้เคียงกัน

ประเด็นที่ 2 เกิดจากจากจุดบริการนักท่องเที่ยวน้ำตกเหวนรก ทับเส้นทางเดินตั้งแต่บรรพบุรุษของช้าง ใช้ทำมาหากิน จึงควรรื้อ 1.ร้านอาหาร 2.ลานจอดรถ 3.ห้องน้ำ 4.ศาลาพักนักท่องเที่ยว ทั้ง 2 หลัง 5.ศาลานิทรรศการ 6.ร้านขายของที่ระลึก รวมไปถึง 6.หน่วยพิทักษ์ป่าเขาใหญ่ น้ำตกเหวนรก

2.1 ด้วยน้ำตกเหวนรกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การก่อสร้างร้านอาหาร ลานจอดรถ ห้องน้ำ ศาลาพัก ร้านขายของที่ระลึก ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกและให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน เพื่อมุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติโดยตรงได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุ นำไปสู่การปลูกฝัง การสร้างจิตสำนึกทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สอดคล้องกับการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ในด้านนันทนาการและการท่องเที่ยว

2.2 บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.20 (เหวนรก) ประกอบด้วยอาคารที่ทำการหน่วย บ้านพักเจ้าหน้าที่ สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานป้องกันและปราบการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้  ซึ่งในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยมีทรัพยากรที่สำคัญได้แก่ สัตว์ป่า ไม้กฤษณา ไม้พะยูง และสัตว์ป่าหายากจำนวนมาก

ซึ่งสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้มีความสำคัญมิได้มีมากจนเกินความจำเป็น และกลมกลืนในภูมิประเทศ จนสัตว์ป่าคุ้นชินมิได้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตอยู่ของสัตว์ป่าแต่อย่างใด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image